วัตถุประสงค์:
คัดเลือกนิทานพื้นบ้านล้านนาจำนวน 5 เรื่อง เพื่อจัดทำเป็นหนังสือนิทานเสียง (Talking book) ที่เหมาะสมกับเด็กระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาตอนต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนมัลติมีเดียสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในการศึกษาเชิงหรรษา (Edutainment) ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมกับได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตลอดจนได้เรียนรู้คุณธรรมที่ดีอันจะเป็นพื้นฐานความคิด จิตใจที่ดีของวัยเด็กและเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเรื่องย่อ:
กาลครั้งหนึ่ง มียาจกคนหนึ่งดำรงชีพด้วยการเป็นขอทาน ขอข้าวขอน้ำชาวบ้านประทังชีวิตไปวันๆ แต่แม้ว่ายาจกคนนี้จะยากจนแต่ก็มีสติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ ขอทานคนนี้ใช้สติปัญญาและโชคเที่ยวทำนายชาวบ้านไปทั่วโดยมีชื่อเสียงว่าเป็นหมอดูที่ทำนายแม่นมาก อยู่มาวันหนึ่ง ทองของเจ้าเมืองหายไปจากวัง ทหารจับตัวช่างทองทั้งหมดในเมืองนั้นมาเพื่อสอบสวนแต่ไม่สามารถหาคนทำผิดได้ จึงให้ทหารไปนำเอาหมอดูยาจนคนนั้นมาแล้วสั่งให้ทำนายว่าใครเป็นคนขโมยทองคำไปจากวัง หากทำนายไม่ได้จะต้องถูกลงโทษ หมอดูยาจกหวาดกลัวเพราะที่ผ่านมาตนเองบังเอิญทายถูกเท่านั้น ไม่ได้มีวิชาโหราศาสตร์ใดๆ จึงใช้สติปัญญาและไหวพริบที่จะหาวิธีจับตัวขโมย ในที่สุดยาจกก็คิดได้ จึงนับจำนวนช่างทองแล้วให้ทหารไปหาถังใส่สีมาให้ครบจำนวนช่างทอง แล้วสั่งช่างทองว่าให้ทุกคนเอามือจุ่มลงในถัง หากใครไม่ได้เป็นขโมย สีจะไม่ติดมือ แต่ถ้าใครเป็นคนขโมย สีจะติดมือ ช่างทองที่ไม่ได้เป็นคนขโมยจึงเอามือจุ่มลงจนถึงก้นถัง แต่ตัวคนขโมยทองนั้นกลัวว่าสีจะติดมือจึงเอามือจุ่มลงไปไม่ถึงก้นถัง จากนั้นยาจกจึงสั่งให้ช่างทองทุกคนเอามือออกจากถัง ปรากฎว่าช่างทองทุกคนยกเว้นคนที่เป็นขโมยนั้นมีสีติดมือจนถึงแขน แต่คนขโมยนั้นมีติดมือเพียงนิดเดียว ยาจกจึงบอกกับเจ้าเมืองว่า คนที่มีสีติดมือน้อยที่สุดเป็นคนขโมยทองของเจ้าเมืองไป เจ้าเมืองดีใจที่ได้ทองคืนมาจึงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่หมอดูยาจกมากมายและรับยาจกคนนั้นเข้าไปอาศัยอยู่ในวัง คอยช่วยงานเจ้าเมืองด้วยการใช้สติปัญญา ยาจนคนนั้นจึงมีเงินทอง ร่ำรวยขึ้นมาเพราะรู้จักใช้สติปัญญาแก้ปัญหา