EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>ก-เกษตรดิจิทัล: ความก้าวหน้าและผลกระทบต่อการเกษตรด้านพืชของไทย-กมล เลิศรัตน์ และอารันต์ พัฒโนทัย
ก-เกษตรดิจิทัล: ความก้าวหน้าและผลกระทบต่อการเกษตรด้านพืชของไทย-กมล เลิศรัตน์ และอารันต์ พัฒโนทัย
ผู้วิจัย : ศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ และ ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย   โพสต์ เมื่อ 28 ธันวาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 26 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 332 ครั้ง

ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เชื่อกันว่า เมื่อนำมาใช้ในการเกษตร จะเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำการเกษตรของโลกในอนาคต โครงการนี้พยายามจะตอบคำถามที่ว่า ประเทศไทยจะสามารถนำเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลมาใช้ได้มากน้อยเพียงใด และจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างไร โดยการทบทวนเอกสารและสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลที่มีการนำมาใช้กันมากในการผลิตพืชไร่และข้าว ได้แก่ ระบบบังคับเลี้ยวอัตโนมัติและระบบนําทาง แผนที่ผลผลิต แผนที่ดิน และเทคโนโลยีอัตราผันแปร แต่การยอมรับไปใช้งานโดยเกษตรกรจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเทคโนโลยี ชนิดพืช ลักษณะภูมิประเทศ ขนาดพื้นที่ปลูก/พื้นที่ถือครอง วิธีการปลูก และความรู้/ทักษะ ตลอดจนเงินทุน รายได้ที่จะได้รับ และฐานะของเกษตรกร ในการผลิตไม้ผล ผัก และไม้ดอกไม้ประดับในแปลงปลูก มีการเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ การชลประทานที่แม่นยํา เทคโนโลยีอัตราผันแปร โดรน เซ็นเซอร์ การทําแผนที่  อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน การสื่อสารไร้สาย การเรียนรู้ของเครื่อง และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ แต่การใช้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ส่วนการผลิตผัก ไม้ผล และไม้ดอกไม้ประดับในโรงเรือนและโรงงานผลิตพืช แบบควบคุมสภาพแวดล้อม  มีการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หุ่นยนต์ โดรนขนาดเล็ก และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีที่ใช้กันมากในการผลิตพืชไร่และข้าว ได้แก่ โดรนสำหรับหว่านเมล็ด และฉีดปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช และเริ่มมีการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ การรับรู้ทางไกล และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ในการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และทำแผนที่การเจริญเติบโตของพืช ประกอบการตัดสินใจในการผลิตพืชบ้างแล้ว ส่วนในการผลิตผักและไม้ผลในโรงเรือน มีการใช้เซ็นเซอร์และระบบให้น้ำอัตโนมัติ แต่ยังไม่แพร่หลายนัก จากโยบายสนับสนุนและมาตรกาลขับเคลื่อนเกษตรดิจิทัลของรัฐ ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ทั้งโดยภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีบริษัทเอกชนที่ให้บริการซอฟต์แวร์และแพลทฟอร์มในการปรับปรุงการผลิต การเช่าเครื่องมือการเกษตร และการเชื่อมโยงกับตลาดและสินเชื่อบ้างแล้ว คาดว่าในอนาคตการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนกับเครื่องมือมาก จะมีการใช้กันกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งการใช้เครื่องจักรเครื่องมือสำหรับงานที่ต้องใช้แรงงานมาก เช่น การปลูก การเก็บเกี่ยว เป็นต้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิด ได้แก่ การผลิตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลผลิตสูงขึ้น การใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะลดลง ทำให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การใช้แรงงานในการปลูกและเก็บเกี่ยวพืชหลัก ๆ จะลดลง ทำให้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวน้อยลง แต่จะมีโอกาสมากขึ้นสำหรับแรงงานฝีมือ และมีโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในชนบทมากขึ้น รวมทั้งจะเป็นแรงดึงดูดให้มีบัณฑิตคืนถิ่นมากขึ้น การศึกษายังพบว่า ประเทศไทยมีนโยบาย มาตรการ และแผนงานโครงการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรดิจิทัลอยู่มาก และครอบคลุมดีแล้ว ข้อด้อยอยู่ที่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอแนะโดยรวมคือการนำนโยบายและแผนงานมาปฏิบัติอย่าจริงจัง โดยการมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับตลาดและแหล่งสินเชื่อ โดยยึดหลักการที่ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ปฏิบัติ และรัฐให้การสนับสนุน รายงานยังได้ให้ข้อเสนอแนะการพัฒนาเกษตรดิจิทัลในประเด็นเฉพาะที่สำคัญไว้ด้วย