EN/TH
EN/TH
เกี่ยวกับเรา>แผนงานคนไทย 4.0>หลักการ ที่มา เหตุผล
หลักการ ที่มา เหตุผล

ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จเชิงเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาจากดัชนีด้านคุณภาพสังคมของประเทศ จะพบว่า ในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) ไทยอยู่ในอันดับ 46 จาก 150 ประเทศ (World Happiness Report 2018) ส่วนดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางศีลธรรมไทยอยู่ในลำดับ 130 จาก 160 ประเทศ (WIMF, 2018) นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความกังวลว่า ประเทศไทยจะก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้หรือไม่ กับดักฯ นี้หมายถึง ปรากฏการณ์ของประเทศที่เคยยกระดับรายได้จากประเทศที่ยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง หลังจากนั้น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับชะลอตัวลง ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้จึงเปรียบเสมือนการติดอยู่ในกับดัก ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ (มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, 2557)

รัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะพัฒนาไปเป็นประเทศไทย 4.0 คือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ประมาณการไว้ว่า หากไทยมีอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพแรงงานอย่างทบต้นประมาณร้อยละ 4- 5 ต่อปี ต้องใช้เวลาถึง 21 – 26 ปี ในการก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือไทยจะก้าวข้ามกับดักได้ในระหว่างปี พ.ศ. 2571 – 2576 หากใช้นิยามนี้ คนไทยที่มีชีวิตในช่วงนั้นจะได้ชื่อว่าคนไทย 4.0 ในการศึกษานี้จึงจะกำหนดช่วงเวลาของชีวิตคนไทยยุค 4.0 เป็นคนไทยที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2575 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ตามนิยามของคนไทย 4.0 ของยุทธศาสตร์ชาติ คนไทย 4.0 ต้องเป็นคนที่มีวินัย มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะ เป็นคนดี และคนเก่ง สามารถขับเคลื่อนสังคมให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกหลายกระแส เช่น

1) การพัฒนาเทคโนโลยีป่วนโลก (Disruptive Technology) ซึ่งสร้างโอกาสและความท้าทายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรโลกอย่างมหาศาล

2) ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคบูรพาภิวัฒน์

3) การบูรณาการระหว่างเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจการเงิน ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เกิดโอกาสการลดต้นทุนธุรกรรม และทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบ “สังคมไร้เงินสด” เร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงจากโอกาสการเกิดการผันผวนด้านการเงินและอาชญากรรมการเงินข้ามชาติ

โดยทั่วไปแล้ว การตอบสนองของประเทศต่อการผันผวนอย่างรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะทำให้รัฐพยายามให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชนมากขึ้น แต่วิทยากรในการประชุมของ WISE@NY Learning Revolution Conference (https//:www.edsurge.com,2018, October 16) ระบุว่า ความสำคัญของทักษะในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา และศาสนาภายใต้สถานการณ์ผันผวนก็มีความต้องการมากไม่แพ้กัน เพราะสังคมที่ก้าวผ่านความผันผวนไปได้ ต้องมีฐานคุณธรรมและจริยธรรมที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น รถไร้คนขับจะมีทางเลือกอย่างไร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องมีความสูญเสียจากอุบัติเหตุอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างรถของตนกับรถที่มีผู้โดยสาร เป็นต้น ดังนั้น แผนงานคนไทย 4.0จึงมุ่งสร้างองค์ความรู้ที่ปรับเสริมให้เกิดคนไทย 4.0 คือ คนไทยที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ พอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ เป็นคนเก่ง คิดเป็น ทำเป็น มีความสามารถที่จะเข้าใจและมีความยืดหยุ่นพอที่จะตอบสนองให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากกระแสต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วจะทำให้ชีวิตคนไทยในอนาคตเปลี่ยนไปมากและนโยบายสาธารณะในอนาคตก็ต้องปรับ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนโยบายการศึกษาที่จะต้องเตรียมคนไทยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ และต้องเป็นคนไทย 4.0 ที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งในด้านคุณธรรมและจิตสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทบาทของการพัฒนานโยบายสาธารณะของไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงอยู่ในภาครัฐเป็นสำคัญ การขาดเวทีสาธารณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่หนักแน่น ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้หลายนโยบายที่ออกแบบมาส่งผลกระทบข้างเคียงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ขาดการสร้างฉากทัศน์ในอนาคต เพื่อแสวงหาทางเลือกและทางออกที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์ นอกจากนี้ นโยบายสาธารณะยังออกแบบโดยไม่อาศัยข้อมูลและประสบการณ์จริง และไม่ได้ถูกหยิบยกมาประกอบในการเรียนการสอน ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกและของประเทศ และนโยบายสาธารณะที่ควรมี รวมทั้งไม่ได้เสริมสร้างและดึงเอาจิตสาธารณะออกมา

ดังนั้น ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้สังคมไทยมีแนวโน้มที่ต้องการการเรียนรู้และการเสริมสร้างทักษะด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อเตรียมพร้อมคนไทย 4.0 ตั้งแต่ระดับรากหญ้าในชุมชนท้องถิ่น จนกระทั่งถึงระดับนโยบายในส่วนกลาง

ด้วยเหตุนี้ แผนงานนี้จึงให้ความสำคัญที่จะพัฒนาบุคลากรวิจัยการศึกษานโยบายสาธารณะภายใต้ประเด็นคนไทย 4.0 ร่วมกับสถาบันวิชาการ/ สถาบันอุดมศึกษา โดยอาศัยการพัฒนาการวิจัยอนาคต (Future Studies) ซึ่งเป็นวิธีวิจัยที่ยังไม่แพร่หลายในวงการนักวิชาการไทยสายสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับวิธีวิจัยนโยบายศึกษา สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างและตอบโจทย์นโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายวิจัยและสร้างความตื่นตัวในบทบาทการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี รวมทั้งการต่อยอดหรือยกระดับตัวอย่างของการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดีในต่างประเทศ ซึ่งจะสอดคล้องกับปรากฏการณ์ 4.0 ของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคม ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สามารถเข้าถึงและเรียนรู้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดีได้อย่างแพร่หลาย ทำให้นักวิจัยนโยบายซึ่งต่อไปนี้จะเรียกย่อๆ ว่า นักวิจัยฯ สามารถเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย รวมทั้งสามารถบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้ในการเรียนการสอนต่อไป