EN/TH
EN/TH
กลุ่ม Big data และดัชนีสังคมไทย>จ- โครงการการพัฒนาดัชนีรวมเพื่อการประเมินศักยภาพการเกษตรในระดับจังหวัด พ.ศ.2551-2561-จิรวรรณ กิจชัยเจริญ และคณะ
จ- โครงการการพัฒนาดัชนีรวมเพื่อการประเมินศักยภาพการเกษตรในระดับจังหวัด พ.ศ.2551-2561-จิรวรรณ กิจชัยเจริญ และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.จิรวรรณ กิจชัยเจริญ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 180 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 21 ครั้ง

ประเทศไทยมีการจัดทำดัชนีเพื่อวัดการพัฒนาหรือศักยภาพในการพัฒนาของประเทศขึ้นมาหลายดัชนีซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นดัชนีที่เน้นวัดการพัฒนาคนในภาพรวมโดยไม่เน้นด้านการเกษตร และขาดการพัฒนาไปสู่การวัดในระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัด ดังนั้นเพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ความพร้อมและศักยภาพในการพัฒนาภาคการเกษตร จึงได้มีโครงการ “การพัฒนาดัชนีรวมเพื่อการประเมินศักยภาพการเกษตรในระดับจังหวัด พ.ศ.2551-2561”ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างต้นแบบดัชนีรวมศักยภาพการเกษตรระดับจังหวัดสำหรับ 77 จังหวัดในประเทศไทย และ 2) ประเมินศักยภาพด้านการเกษตรในปี พ.ศ. 2561 และความเปลี่ยนแปลงทางศักยภาพการเกษตรระดับจังหวัดสำหรับ 77 จังหวัดในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2551-2561) โดยใช้ดัชนีรวมที่สร้างขึ้น แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลทำให้การวิเคราะห์ปีล่าสุดต้องใช้ข้อมูลปี พ.ศ.2560 และมี 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่ตัดออกจากการศึกษา ทำให้การศึกษานี้ครอบคลุมเพียง 73 จังหวัด

การพัฒนาดัชนีรวมเพื่อการประเมินศักยภาพการเกษตรในระดับจังหวัดครั้งนี้ใช้ได้ประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดของทาง G8/FAO/IFAD ที่เกิดจากการระดมสมองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรและระบบการผลิตอาหารของโลกซึ่งแบ่งมิติของดัชนีรวมภาคเกษตรที่ต้องการดูความเปลี่ยนแปลงไว้ 4 มิติ คือ 1) โครงสร้างของระบบเกษตร ประกอบด้วย 5 ดัชนีย่อย อันได้แก่ 1.1 ทรัพยากรที่ดินและน้ำฝน 1.2 ทรัพยากรมนุษย์ 1.3 การมีตลาด 1.4 ทรัพยากรทุน และ 1.5 โครงสร้างการผลิตภาคเกษตร 2) โครงสร้างทางสถาบันที่เอื้ออำนวยการพัฒนาการเกษตร ประกอบด้วย 4 ดัชนีย่อย อันได้แก่ 2.1 โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อภาคการเกษตร 2.2 การสนับสนุนด้านการเกษตรจากภาครัฐ 2.3 สถาบันสินเชื่อเพื่อการเกษตร และ 2.4 ทุนทางสังคม 3) ความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของภาคเกษตร ประกอบด้วย 4 ดัชนีย่อย อันได้แก่ 3.1 คุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.2 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 3.3 คุณภาพผลผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และ 3.4 ความยืดหยุ่นทางการเกษตร และ 4) ผลิตภาพของภาคเกษตร ประกอบด้วย 5 ดัชนีย่อย อันได้แก่ 4.1 การสร้างรายได้ของครัวเรือนเกษตร 4.2 ประสิทธิภาพการใช้แรงงานหลักเกษตร 4.3 ประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน 4.4 ประสิทธิภาพการใช้เรือประมง และ 4.5 ประสิทธิภาพการใช้ทุน รวมทั้งหมดมี 4 มิติ 18 ดัชนีย่อย 44 ตัวชี้วัดหลัก 51 ตัวชี้วัดย่อย ในการวิเคราะห์ดัชนีรวมได้แบ่งจังหวัดต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะภูมินิเวศที่ต่างกัน คือ 1) กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล (21 จังหวัด) 2) กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ภูเขา (13 จังหวัด) และ 3) กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ราบมาก (39 จังหวัด)

การวิเคราะห์ดัชนีรวมของปี พ.ศ. 2560 พบว่าในภาพรวมกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลและกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ภูเขามีศักยภาพทางการเกษตรอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ราบมากมีศักยภาพทางการเกษตรอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล จังหวัดสมุทรสาครมีศักยภาพทางการเกษตรสูงสุดในกลุ่มและเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการเกษตรในอันดับ 1 มาเกือบทุกปี ส่วนจังหวัดสมุทรสงครามมีศักยภาพต่ำที่สุดในกลุ่ม ในรอบ 10 ปี จังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเพิ่มมากที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา สงขลา ตราด ชลบุรี และเพชรบุรี และจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับลดลงมากที่สุด คือ พังงา ชุมพร จันทบุรี ระยองและสุราษฎร์ธานี ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ภูเขามาก จังหวัดลำพูนมีศักยภาพสูงที่สุดในกลุ่มโดยขึ้นมาแทนที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เคยอยู่ในอันดับที่ 1 มาตลอดหลายปีได้ ส่วนจังหวัดที่มีศักยภาพต่ำที่สุดในกลุ่มนี้ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี คือ อุตรดิตถ์ เลยและอุทัยธานี และอันดับลดลงมากที่สุด คือ ลำปางและเชียงราย ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ราบมาก จังหวัดในภาคกลางส่วนใหญ่มีศักยภาพสูงกว่าจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครปฐมมีศักยภาพสูงสุดในกลุ่มและเป็นจังหวัดที่อยู่ในอันดับสูงสุด 5 จังหวัดแรกของกลุ่มมาตลอด 10 ปี ส่วนจังหวัดที่มีศักยภาพต่ำที่สุดในกลุ่ม คือ จังหวัดยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และสกลนคร ส่วนจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี คือ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทองและนครนายก และจังหวัดที่มีอันดับลดลงมากที่สุด คือ ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ร้อยเอ็ดและกำแพงเพชร

การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเกษตรในระดับจังหวัดในปี พ.ศ.2560 ด้วยวิธี Data Envelop Analysis (DEA) พบว่า โดยภาพรวมกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลและกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ภูเขามากมีประสิทธิภาพการบริหารจัดการระดับสูง ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ราบมากมีประสิทธิภาพระดับปานกลางค่อนข้างสูง ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูงสุดในกลุ่มแต่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการเกษตรต่ำสุดในกลุ่ม ขณะที่จังหวัดสมุทรสงครามมีศักยภาพทางการเกษตรต่ำสุดในกลุ่มแต่มีประสิทธิภาพทางการเกษตรสูงสุดในกลุ่ม ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ภูเขามา จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่มีทั้งศักยภาพและประสิทธิภาพสูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ตากและน่าน มีศักยภาพทางการเกษตรในอันดับรั้งท้ายสุดในกลุ่มแต่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่ม ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ราบมาก จังหวัดที่มีประสิทธิภาพสูงส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพระดับปานกลาง ขณะที่จังหวัดยโสธรและมหาสารคามเป็นจังหวัดที่มีทั้งศักยภาพและประสิทธิภาพต่ำสุดในกลุ่ม

ผลการวิเคราะห์โดยใช้ดัชนีรวมระดับจังหวัดสามารถแสดงให้เห็นศักยภาพทางการเกษตรโดยเปรียบเทียบระหว่างจังหวัด สามารถชี้ให้เห็นจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของแต่ละจังหวัดได้ สามารถจัดแสดงเป็นแผนที่ที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปสู่ข้อเสนอแนวที่เป็นแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพทางการเกษตรทั้งในระดับภูมิภาคและจังหวัดได้