EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>โครงการโมเดลทางเลือกในการพัฒนาคนไทย 4.0 บนพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนบน
โครงการโมเดลทางเลือกในการพัฒนาคนไทย 4.0 บนพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนบน
โพสต์ เมื่อ 05 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 295 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 20 ครั้ง

โครงการโมเดลทางเลือกในการพัฒนาคนไทย 4.0 บนพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนบน


รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล และคณะ       

       โครงการนี้พยายามเสนอตัวอย่างโมเดลทางเลือกในการพัฒนาบนพื้นที่สูงที่สอดรับกับบริบทและความหลากหลายของพื้นที่ โดยใช้วิธี Rapid appraisal วิเคราะห์ศักยภาพในท้องถิ่นและสแกนพืช สัตว์ และประมง 82 รายการ เพื่อนำมาพัฒนาฐานข้อมูลต้นทุน-ผลตอบแทน การศึกษาได้วิเคราะห์ด้วยเทคนิคที่หลากหลายได้แก่ Cost Benefit Analysis, Linear Programming, Focus Group Meetings, In-depthInterview, Personas และ Design Thinking จากการศึกษามีข้อค้นพบสำคัญ คือ

1. น่านมีพื้นที่เหมาะสมต่อการเกษตรจำกัด พื้นที่เกษตรอยู่ที่สูงแต่น้ำอยู่ที่ลุ่ม ต้นทุนคมนาคมสูงและเงื่อนไข คทช. ส่งผลให้การพัฒนาสินค้าเกษตรมีต้นทุนสูง และต้องการการจัดการดินและน้ำอย่างเป็นระบบ

2. เกษตรกรก่อหนี้เพื่อจุนเจือการบริโภคในครัวเรือน แม้ว่าบางรายสามารถใช้หนี้ได้แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ตลอดชีวิต โดยมีกรมธรรม์เป็นหลักประกันการชำระหนี้

3. แม้ว่าทางเลือกเกี่ยวกับระบบเกษตรมีมากมายและหลากหลาย แต่ด้วยเงื่อนไขทางกายภาพและเศรษฐกิจครัวเรือนทำให้ทางเลือกเหลือน้อย การตัดสินใจของเกษตรต้องการข้อมูลผลตอบแทนและต้นทุนที่ชัดเจน ทราบขนาดเงินลงทุน (หนี้สิน) และต้องให้ได้รายได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท/ปี/ครัวเรือน

4. ข้าวโพด เป็นทางเลือกที่ลงทุนน้อย รายได้ดีและมีความเสี่ยงด้านตลาดต่ำที่สุด แต่ต้องใช้พื้นที่มากและใช้วิธีการเผาหลังเก็บเกี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้มีรายได้ระดับเดียวกับข้าวโพด กัญชง (ผลิตเส้นใย) หม่อน และกล้วยน้ำว้า เป็นสามทางเลือกที่ดีที่สุด และยังใช้พื้นที่น้อยกว่า ส่วนไม้ผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีและลงทุนสูง สำหรับการปลูกพืชผสมผสานที่เหมาะสมควรมี2 ชนิด เนื่องจากจะมีรายได้คุ้มค่ากับการลงทุน สำหรับปศุสัตว์อย่างแพะและไก่พื้นเมืองแม้ว่าใช้พื้นที่น้อยแต่ใช้เงินลงทุนสูง

5. ในพื้นที่ลุ่มน้ำหนึ่งและสอง กรณีที่มีป่าอยู่แล้ว

               5.1 ไม่มีพืชเศรษฐกิจที่จะสามารถแซมลงไปในป่าเพื่อหารายได้ได้ในปีแรกที่จะทำให้ครัวเรือนมีชีวิตดีขึ้น

               5.2 หากต้องการสร้างรายได้ในปีแรก ต้องเลี้ยงไก่พื้นเมือง 4 รุ่น/ปี(รุ่นละ 400 ตัว) จะใช้เงินลงทุน 58,000 บาท สร้างรายได้สุทธิเท่ากับ 48,000 บาท

               5.3 พืชที่ปลูกใต้ป่าได้ดีที่สุด แต่ต้องรอ 2 ปีจึงจะได้รายได้ได้แก่ หวาย ผักหวาน บุก สร้างรายได้ได้98,000 95,000 และ 49,000 บาท/ปีตามลำดับ โดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาท

6. ในพื้นที่ลุ่มน้ำหนึ่งและสอง กรณีที่ปลูกพืชไปพร้อมๆ กับปลูกไม้ป่ามีทางเลือกค่อนข้างจำกัดทางเลือกที่ดีที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่

              6.1 กล้วยน้ำว้า สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 1 ปีปลูกคละกับป่าในพื้นที่ 20 ไร่ (2,400 ต้น) ลงทุนและบำรุงรักษา 92,000 บาท ได้รับรายได้สุทธิ84,000 บาท/ปี

              6.2 มะขามเปรี้ยว จะเก็บเกี่ยวได้ภายใน 3 ปีปลูก 16 ต้น/ไร่ ในพื้นที่ 20 ไร่ (320 ต้น) ลงทุนและบำรุงรักษา 64,000 บาท ได้รายได้126,000 บาท/ป

              6.3 มะไฟจีน จะเก็บเกี่ยวได้ภายในปีที่ 4 ปลูกแซมป่า 20 ไร่ (188 ต้น) ลงทุน 100,000 บาท ได้รายได้135,000 บาท/ปี

7. พื้นที่ลุ่มน้ำสาม สี่และห้า

              7.1 การเพาะปลูกในลุ่มน้ำนี้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องพืช ระบบเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าพืชเชิงเดี่ยวและระบบที่สร้างรายได้สูงสุดต่อพื้นที่ 20 ไร่ ได้แก่กัญชง (ผลิตเส้นใย) หญ้าเนเปียร์หม่อน กล้วยน้ำว้า โกโก้ และกาแฟ

              7.2 การผลิตพืชใหม่กัญชง (ผลิตเส้นใย) และหญ้าเนเปียร์ต้องสร้างตลาดใหม่ส่วนโกโก้ต้องการน้ำกาแฟต้องการความสูงของพื้นที่ปลูก ดังนั้น กล้วยน้ำว้ามีความพร้อมมากที่สุด และมีห่วงโซ่อุปทานอยู่บ้างแล้ว แต่ต้องมีการแปรรูปมากขึ้นสำหรับทางเลือกการพัฒนาระดับโครงการต้องสร้างแรงจูงใจโดย

1.การจ่ายค่าคืนพื้นที่ 5,000 บาท/ไร่ ควรทยอยจ่ายในลักษณะของการปลูกและดูแลป่า คือ ค่าปลูกและดูแลป่าในปีแรก 2,000 บาท/ไร่ ค่าปลูกซ่อมและดูแลป่าในปีที่สองและสามปีละ 1,500 บาท/ไร่ ตามลำดับ ทั้งนี้ในพื้นที่นี้จะไม่มีการปลูกพืชเกษตร

2.เกษตรกรเลือกปลูกข้าวโพดเพราะได้สินเชื่อง่าย จึงสามารถนำเงินในอนาคตมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้ก่อน ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจจะต้องยอมให้ปลูกข้าวโพด แต่ต้องใช้วิธีไม่เผาในพื้นที่ คทช. ควรต้องให้แรงจูงใจทำเกษตรไม่เผาสำหรับข้าวโพดในสามปีแรกที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยมีเงินสนับสนุนข้าวโพดไม่เผากิโลกรัมละ 2 บาท โดยเฉลี่ย 1 ไร่จะได้ประมาณ 1,400 บาท/ไร่

3.การเปลี่ยนพืช เกษตรกรต้องเลือกเองตามศักยภาพของตน

4.การสนับสนุนการจัดการน้ำเป็นโอกาสลดความเสี่ยงและเพิ่มทางเลือกของเกษตรกร

5.การสนับสนุนด้านการปรับโครงสร้างสินเชื่อจะจำเป็นสำหรับเกษตรกรกลุ่มที่มีหนี้สะสมสูงมาก

อ่าน E-Book คู่มือพืชและสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดน่านฯ