EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>ปัจจัยทํานายการปฏิบัติของประชาชนไทยต่อผู้ที่เคยติดเชื้อหรือผู้ถูกกักกันและผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (ระยะที่ 1)
ปัจจัยทํานายการปฏิบัติของประชาชนไทยต่อผู้ที่เคยติดเชื้อหรือผู้ถูกกักกันและผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (ระยะที่ 1)
โพสต์ เมื่อ 05 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 182 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 0 ครั้ง

นงเยาว์ เกษตร์ภิบาลและคณะ

ปัจจัยทํานายการปฏิบัติของประชาชนไทยต่อผู้ที่เคยติดเชื้อหรือผู้ถูกกักกัน หมายถึง สิ่งที่มีผลต์อการปฏิบัติในการป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนไทยต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือผู้ถูกกักกัน ประเมินโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องการวิจัยครั้งนี้ศึกษาปัจจัยทํานาย ประกอบด้วย ปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ทัศนคติต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือผู้ถูกกักกัน และการรับรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19

ส่วนผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หมายถึง ผลที่เนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจําวันของตนเอง ต่อครอบครัว ด้านวัฒนธรรม/ประเพณี/วิถีชีวิตของชุมชน ด้านการศึกษาของตนเอง และ/หรือบุตรหลาน ด้านสุขภาพและการป้องกันโรค ด้านเศรษฐกิจ และด้านจิตใจของประชาชนไทย ทั้งผลกระทบโดยตรงจากโรคโควิด-19 และผลกระทบจากนโยบายหรือมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ประเมินโดยใช้แบบสอบถามผลกระทบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง สําหรับแบบสอบถามผลกระทบด้านจิตใจประเมินโดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด (depression anxiety stress scale [DASS-21]) ฉบับภาษาไทย โดย สุกัลยา สว่าง และคณะ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทํานาย โดยทําการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทํานายการปฏิบัติของประชาชนไทยต่อผู้ที่เคยติดเชื้อหรือผู้ถูกกักกัน และผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มตัวอย่างคือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมาและยะลา การวิจัยระยะที่ 1 เป็นการศึกษานําร่อง ใช้ระยะเวลา 2 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2563 เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน จํานวน 220 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน

ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้านร้อยละ 92.7 มีแอลกอฮอล์ทําความสะอาดมือพอใช้ร้อยละ 81.4 พกแอลกอฮอล์ทําความสะอาดมือทุกครั้งที่ออกจากบ้านร้อยละ 83.6 มีหน้ากากอนามัยพอใช้ร้อยละ 80.0 แต่เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตรตลอดเวลาร้อยละ 78.6 และเว้นระยะห่างจากสมาชิกในครอบครัว 1-2 เมตรตลอดเวลาเพียงร้อยละ 55.5 กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และต่อผู้ถูกกักกันอยู่ในระดับสูงมากที่สุดร้อยละ 60.9 เท่ากัน กลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ถูกต่องต่อผู้ที่เคยติดเชื้ออยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 45.0 และมีการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ถูกต้องต่อผู้ถูกกักกันอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 50.5 กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 อยู่ในระดับปานกลางมากที่สุดร้อยละ 61.4 กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 50 มีทัศนคติทางลบต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และต่อผู้ถูกกักกัน โดยมีความเห็นว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และผู้ที่ถูกกักกันได้รับเชื้อหรือมีโอกาสได้รับเชื้อจากการไปในสถานที่อโคจร และจากการประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อยู่ในระดับสูงร้อยละ 79.1 กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จากสื่อออนไลน์มากที่สุดร้อยละ 70.9 รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ร้อยละ 59.5 บุคลากรสุขภาพร้อยละ 55.0 อสม./อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ร้อยละ 50.5 และสมาชิกในครอบครัวร้อยละ 50.0 กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19อยู่ในระดับสูงมากที่สุดร้อยละ 48.6 และผลกระทบจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุดร้อยละ 46.9 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 และจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลอยู่ในระดับสูงมากที่สุดร้อยละ 72.7 รองลงมาคือ ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจจากการระบาดของโรคโควิด-19 และจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลอยู่ในระดับสูงมากที่สุดร้อยละ 76.0 และ 69.5 ตามลําดับ นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาวะวิตกกังวลจากการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับรุนแรงมากสูงถึงร้อยละ 20.9 และอยู่ในระดับรุนแรงร้อยละ 5.0 กลุ่มตัวอย่างมีความเครียดจากการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับรุนแรงมากสูงถึงร้อยละ 10.0 และอยู่ในระดับรุนแรงร้อยละ 11.4 กลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้า จากการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับรุนแรงมากสูงถึงร้อยละ 17.3 และอยู่ในระดับรุนแรงร้อยละ 4.5 นอกจากนี้พบว่า สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด19 และผู้ถูกกักกัน มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับปานกลาง (r=0.437, p<0.001; r=0.449, p<0.001) และการรับรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และผู้ถูกกักกัน ในระดับต่ำ (r=0.240, p<0.001; r=0.322, p<0.001)

สรุป กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และต่อผู้ถูกกักกันอยู่ในระดับปานกลาง กลุ่มตัวอย่างได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เศรษฐกิจ และพบว่ากลุ่มตัวอย่างบางส่วนมีภาวะวิตกกังวล ความเครียด และภาวะซึมเศร้าในระดับรุนแรงมาก