EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>น-โครงการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงเทพมหานคร-นิรมล เสรีสกุล และคณะ
น-โครงการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงเทพมหานคร-นิรมล เสรีสกุล และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล และคณะ   โพสต์ เมื่อ 07 พฤศจิกายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 23 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 6 ครั้ง

โครงการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร และดำเนินการทดลองกลไกใหม่ในการขับเคลื่อน ถอดบทเรียนและวิพากษ์ ตลอดจัดทำข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครผ่านการวิจัยเชิงวินิจฉัยร่วมกับการวิจัยเชิงอรรถาธิบายผ่านการวิจัยเอกสารในการศึกษาระดับกว้างที่วิเคราะห์ตั้งแต่นิยาม นโยบาย แผน ผัง กลยุทธ์ มาตรการ ตัวชี้วัด และกระบวนการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติของพื้นที่กรุงเทพมหานครและกรณีศึกษาเมืองปารีส ผนวกกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับการวิจัยแบบมีส่วนร่วมผ่านการศึกษาเฉพาะกรณีอย่างการขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาที ดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องศักยภาพที่มีบริบทของเงื่อนไขแตกต่างกัน

จากการศึกษา พบว่า การนิยามคำว่า “พื้นที่สีเขียว” และ “สวน” มีความสำคัญอย่างมากในการประเมินสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายละเอียดการจำแนกประเภทของพื้นที่ที่ส่งผลโดยตรงต่อการประเมินสถานการณ์และกำหนดเป้าหมายรวมถึงตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานครยังขาดความชัดเจนในส่วนนี้ ส่งผลให้ข้อมูลการประเมินอาจเกิดการผิดพลาด นอกจากนี้ จากการอภิปรายข้อมูลที่ปรากฎในการดำเนินงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 3 ท่าน 4 สมัย ที่แม้จะมีนโยบานและพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่พบว่า แผน ผัง และการบูรณาการหน่วยงาน เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนาเมือง การบูรณาการกลไกทั้งหมดให้สามารถดำเนินการ สนับสนุนซึ่งกันและกันจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ

ในส่วนของการทดลองปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง พื้นที่มีความแตกต่างทางด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่เป็นปัจจัยหลักขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่จะส่งผลต่อกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานส่วนอื่น ๆ ในพื้นที่ย่านพระโขนง-บางนา และย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ขาดแคลนพื้นที่สีเขียว และมีประชากรหนาแน่น ถือเป็นพื้นที่เร่งด่วนในการดำเนินการ พบประเด็นที่น่าสนใจ 5 ประการ คือ (1) พื้นที่เป็นเงื่อนไขหลักในการจัดสรรงบประมาณ (2) การมีช่องว่างของการดำเนินการจากนโยบายสู่การปฏิบัติ (3) ความจำเป็นในการมีเกณฑ์ ขอบเขต ขั้นตอน และผลผลิต ที่ชัดเจน (4) ข้อจำกัดของการจัดสรรงบประมาณในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมและการจัดทำแบบก่อสร้าง และ (5) การใช้โครงสร้างที่มีอยู่ได้ อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

ดังนั้น หากกรุงเทพมหานครยังกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการเน้นความร่วมมือจากภาคีที่หลากหลายมาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนนั้น ควรมีการกำหนดแผนการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจนทั้งในเชิงตำแหน่งที่ตั้ง ขนาด และประเภท ของพื้นที่สวนหรือพื้นที่สีเขียวรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกับการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาพรวมระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติการ เป็นไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน รวมถึงควรมีเกณฑ์ ขอบเขต ขั้นตอน และ ผลผลิต ที่ชัดเจน ตลอดจนช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วมที่ทั้งหมดนี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนได้ง่ายมากยิ่งขึ้นและเกิดผลของการดำเนินงาน ทั้งในเชิงประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นเช่นกัน 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาและเปรียบเทียบแนวทางการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร และเมืองปารีสที่พบว่า ทั้ง 2 เมือง มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่วางไว้แต่ที่น่าสนใจคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองปารีสมีการเพิ่มรูปแบบการใช้งานพื้นที่ที่มีความหลากหลายที่นอกจากจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวหรือสวนเป็นพื้นที่ในการพักผ่อนและออกกำลังกายแล้ว ยังมีการผนวกแนวคิดเกษตรในเมืองเข้ากับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการนโยบาย พื้นที่สีเขียวเข้ากับระบบอาหารในเมืองรวมถึงกลยุทธ์ในการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่สามารถเข้าถึงได้ในระยะละแวกบ้านด้วยการจัดทำเกณฑ์ ขอบเขต ขั้นตอน และผลผลิต เป็นหนังสือคู่มือ และพัฒนาแพลตฟอร์มในการรับการสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐ และ รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน

ท้ายที่สุดนี้ จากข้อค้นพบในการศึกษาทั้งระดับภาพกว้างและการปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง คณะทำงานจึงได้เสนอแนะการนิยามพื้นที่สีเขียวและสวนที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมาย ดำเนินการ และประเมินผล และประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย วางยุทธศาสตร์ บริหารเป้าหมาย งบระมาณ เวลาการดำเนินการ กระบวนการ รวมถึงการติดตามและวัดที่ต้องมีความหลากหลาย ชัดเจน และยืดหยุ่น อันจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องทั้งนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ ผังเมือง และการใช้งานจริงของผู้คน ที่สามารถนำไปทำซ้ำและขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ของเมืองตามแต่ละเงื่อนไขได้ดีมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครไปสู่เป้าหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีให้แก่คนเมือง อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชาชน และป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป