EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>ก-ศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสาร COVID-19 ของนักศึกษา-กรวรรณ สังขกร
ก-ศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสาร COVID-19 ของนักศึกษา-กรวรรณ สังขกร
ผู้วิจัย : ดร.กรวรรณ สังขกร   โพสต์ เมื่อ 02 พฤศจิกายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 40 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 3 ครั้ง

การศึกษาเรื่อง “คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติ ไวรัส COVID-19 (ระยะที่ 3)” มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสาร COVID-19 ของนักศึกษา โดยกำหนดขอบเขตของประเด็นการศึกษา คือ ขอบเขตด้านสุขภาพ ขอบเขตด้าน สังคม ขอบเขตด้านเศรษฐกิจ ขอบเขตด้านการเมือง เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามพฤติกรรมการ รับส่งข่าวสารและการตัดสินใจเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ของเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ เยาวชนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในระดับชั้นปริญญาตรี ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 333 คน ดำเนินการเก็บแบบสอบถามโดยการกระจายแบบสอบถามผ่าน Platform Microsoft Team ในช่วงระยะเวลาเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ในการศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสาร Covid-19 ของนักศึกษา 333 คน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 65.47 เพศชาย ร้อยละ 34.53 นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ร้อยละ 41.14 รองลงมาคือสาขาสังคมศาสตร์ ร้อยละ 31.83 และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร้อยละ 27.03 ส่วนใหญ่ใช้ Internet จากมือถือ รองลงมา ได้แก่ การใช้ Jumbo Net ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และใช้ internet มากกว่า 11 ชั่วโมง/วัน มีกลุ่มการสนทนา Chat จำนวน1–10 กลุ่ม

ผลการวิเคราะห์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ COVID–19 พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานที่ถูกต้อง นักศึกษาได้รับข่าวสารเกี่ยวกับ COVID–19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก จากทวิตเตอร์ จากการบอกเล่าแบบปากต่อปาก เมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับ COVID–19 นักศึกษามีการกลั่นกรองข่าวสารนั้น ร้อยละ 98.80 โดยเป็นการกลั่นกรองจากเนื้อหาสาระในข่าว กลั่นกรองจากแหล่งที่มาของข่าว (ข่าวสารจาก ศบค. / สำนักข่าว) กลั่นกรองจากช่องทางที่ได้รับข่าว (เฟซบุ๊ก ไลน์) และกลั่นกรองจากคนส่งข่าว

นักศึกษาส่วนใหญ่ส่งต่อข่าวสารเกี่ยวกับ COVID–19 ร้อยละ 66.37 โดยเหตุผลที่ส่งต่อข่าวนั้นได้แก่ คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับข่าวสาร ร้อยละ 68.78 เพื่อให้ทันข่าวสารใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับ COVID–19 ร้อยละ 20.81 ได้รับข่าวมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 9.05 ในขณะที่ นักศึกษาร้อยละ 33.63 จะไม่ส่งต่อข่าวสารเกี่ยวกับ COVID–19 เนื่องจากไม่สนใจข่าวนั้น ร้อยละ 41.96 ไม่เชื่อถือแหล่งข่าว ร้อยละ 41.07 และ คิดว่าอาจเป็นข่าวปลอม ร้อยละ 66.37 ตามลำดับ

เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลกับการส่งต่อข่าวสารเกี่ยวกับ COVID–19 ของนักศึกษา พบว่า เพศของนักศึกษามีความสัมพันธ์ต่อการส่งต่อข่าวสาร (χ 2 = 9.034, Sig = .003) โดยนักศึกษาหญิงมีการส่งต่อข่าวสารสูงถึงร้อยละ 72.02 ในขณะที่นักศึกษาชายมีการส่งต่อข่าวสาร ร้อยละ 55.65 นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ Wifi ของที่พักมีความสัมพันธ์ต่อการส่งต่อข่าวสาร โดยนักศึกษาที่ใช้ Wifi ของที่พักมีการส่งต่อข่าวสาร ร้อยละ 71.79 ในขณะที่นักศึกษาที่ไม่ใช้ Wifi ของที่พักมีการส่งต่อข่าวสาร ร้อยละ 58.70

นักศึกษาที่ส่งต่อข่าวสารมีความรู้พื้นฐานเกี่ยว COVID-19 ไม่ต่างจากนักศึกษาที่ไม่ส่งต่อ ข่าวสาร (t – test = -1.215, Sig. = .225X ที่ระดับ 0.05 การวิเคราะห์ผลการพิจารณาข่าวปลอมเกี่ยวกับ COVID–19 จำนวน 14 ข่าว พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นข่าวปลอม โดยพบว่านักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสามารถพิจารณาได้สูงกว่านักศึกษาสาขาวิชาอื่น ๆ และพบว่านักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาต่างกัน มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ COVID–19 และการพิจารณาเฟคนิวส์แตกต่างกัน ผลการเปรียบเทียบความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ COVID–19 พบว่า นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาต่างกันมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเกี่ยวกับ COVID–19 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 (F = 6.585, Sig. = 0.002) และเมื่อเปรียบเทียบการพิจารณาเฟคนิวส์ พบว่า นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาที่ต่างกัน มีความสามารถในการพิจารณาเฟคนิวส์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 (F = 4.803, Sig. = 0.009) และเมื่อเปรียบเทียบความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ COVID–19 จำแนกตามสาขาวิชา พบว่า นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ COVID–19 น้อยกว่านักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ความแตกต่างเฉลี่ย = -0.803, Sig. = .000) และ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ COVID–19 มากกว่านักศึกษาสาขาวิชาสังคมศาสตร์ (ความแตกต่างเฉลี่ย = 0.496, Sig. = .035) ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ข่าวจริงเกี่ยวกับ COVID–19 กับการส่งต่อข่าวนั้น พบว่าการรับรู้ข่าวจริงมี ความสัมพันธ์กับการส่งต่อข่าวอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05