การศึกษาเรื่อง “คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติ ไวรัส COVID-19 (ระยะที่ 3)” มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อจัดทำเหมืองข้อมูลและการวิเคราะห์ของข่าวสารปลอมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 2) เพื่อติดตามปรากฎการณ์:ของข่าว COVID-19 ในเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน ยารักษา ผู้ติดเชื้อและมาตรการของรัฐ ฯลฯ ที่ปรากฏครอบคลุม ช่วงการระบาดที่ 1 2 และ 3 3) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสาร COVID-19 ของนักศึกษาโดยกำหนดขอบเขตของประเด็นการศึกษา คือ ขอบเขตด้านสุขภาพ ขอบเขตด้านสังคม ขอบเขตด้านเศรษฐกิจ ขอบเขตด้านการเมือง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ การทำเหมืองข้อมูล และการวิเคราะห์ของข่าวสารปลอมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 การติดตามความเคลื่อนไหวของข่าว ปลอมตามขอบเขตของประเด็นการศึกษาและการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของข่าวจากแต่ละประเภทในแต่ละมิติผลกระทบ 4 ด้าน ได้แก่ (1) มิติสุขภาพ (2) มิติเศรษฐกิจ (3) มิติสังคม และ (4) มิติการเมือง และแบบสอบถามพฤติกรรมการรับส่งข่าวสารและการตัดสินใจเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ของเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างได้แก่เยาวชนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในระดับชั้นปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 333 คน ดำเนินการเก็บแบบสอบถาม โดยการกระจายแบบสอบถามผ่าน Platform Microsoft Team ในช่วงระยะเวลาเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ผลการศึกษา พบว่า ข่าวปลอมที่พบมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม 2564 – พฤษภาคม 2564
คือ ประเภททำให้เข้าใจผิด (Misleading) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564-สิงหาคม 2564 พบข่าวปลอม
ประเภทเสียดสีหรือตลก (Satire or Parody) ถูกพบมากที่สุด และในช่วงเดือนกันยายน 2564 -
พฤศจิกายน 2564 พบข่าวปลอมประเภทโยงมั่ว (False Connection) ถูกพบมากที่สุด ข่าวปลอมทั้ง 4 มิติที่เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ถึงพฤศจิกายน 2564 พบว่า
มิติด้านสังคมถูกพบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.84 และข่าวปลอมในมิติด้านเศรษฐกิจถูกพบเห็นน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 5.77 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคำค้นหาทั้งหมดในรูปของ Word cloud
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 สามารถสรุปได้ว่าคำค้นที่มีความถี่ในการค้นหามากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ (1) โควิด 19 (2) วัคซีน (3) การติดเชื้อ ตามลำดับ การแปลผลความรู้สึก
10 ข่าวปลอมในการศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสาร Covid-19 ของนักศึกษามหาวิทยาลัย
พบว่าส่วนใหญ่มีแสดงความรู้สึกใกล้เคียงกัน ได้แก่ แสดงความรู้สึกเชิงลบแต่ไม่แสดงออกอย่างรุนแรง
และแสดงความรู้สึกเชิงบวกแต่ไม่แสดงออกอย่างรุนแรง