EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>พ-การให้คุณค่าความซื่อสัตย์ในสังคมไทย-พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ
พ-การให้คุณค่าความซื่อสัตย์ในสังคมไทย-พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 21 กันยายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 145 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 22 ครั้ง

การศึกษาเรื่องการให้คุณค่าความซื่อสัตย์ (Honesty Value) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน เพราะการให้คุณค่ามีส่วนต่อทัศนคติและการกำหนดพฤติกรรมของคนสังคม ความซื่อสัตย์เป็นหนึ่งในคุณธรรมขั้นพื้นฐานในสังคมไทย เมื่อทำการทบทวนวรรณกรรมคณะผู้วิจัยยังไม่พบข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประมาณการความซื่อสัตย์ในระดับบุคคลในเชิงปริมาณ (Quantitative) ที่เป็นบริบทของประเทศไทย โดยอ้างอิงจากข้อมูลสถิติสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Statistical Office of Thailand: NSO) 

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้โครงการวิจัยฉบับนี้สนใจที่จะศึกษาการให้คุณค่าของความซื่อสัตย์ (Honesty) ในระดับบุคคลในเชิงปริมาณ (Quantitative) ที่เป็นบริบทของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์สองประการ ได้แก่ ศึกษาและประมาณการการให้คุณค่าความซื่อสัตย์ และ ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความซื่อสัตย์ด้วยแบบจำลองทางเศรษฐมิติ ด้วยข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ผ่านทางการรวมรวมข้อมูลผ่านแบบสอบถาม (Questionnaire) กับผู้ที่มีสัญชาติไทยอายุระหว่าง 18 ถึง 75 ปีที่พำนักอาศัยและดำเนินชีวิตในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,291 ตัวอย่าง

ผลการศึกษาการให้คุณค่าความซื่อสัตย์ (Absolute Honesty) พบว่า ในภาพรวมคนไทยให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์ในระดับที่ค่อนข้างสูงด้วยคะแนน 4.82 คะแนนจาก 5 คะแนน โดยหากแยกตามองค์ประกอบจะพบว่า องค์ประกอบของความซื่อสัตย์ด้านการเที่ยงตรงต่อหน้าที่ได้ค่าคะแนนความสำคัญสูงที่สุดที่ 4.64 รองลงมา คือ องค์ประกอบด้านการเคารพความเป็นเจ้าของอยู่ที่ 4.49 ในขณะที่องค์ประกอบของความซื่อสัตย์ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ การเคารพต่อข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การโกหก การไม่พูดหรือรายงานตามความเป็นจริง ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมไทย นอกจากนี้ เมื่อทำการเปรียบเทียบการให้คุณค่าความซื่อสัตย์กับคุณค่าอื่นผ่านสถานการณ์สมมติ (Relative Honesty) พบว่า ทั้งสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนและรับสินบนเป็นสองสถานการณ์ที่กลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะซื่อสัตย์สูงที่สุด นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 82 เลือกที่จะซื่อสัตย์ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลักขโมย (องค์ประกอบของการเคารพความเป็นเจ้าของ) แม้ว่าต้องเลือกระหว่างคุณค่าด้านความกตัญญูกับคุณค่าด้านความซื่อสัตย์ (สถานการณ์การขโมยยาเพื่อช่วยแม่ที่ป่วย) กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 85 เลือกที่จะซื่อสัตย์ไม่ลักขโมย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวแปรการให้คุณค่าต่อความซื่อสัตย์มีความสัมพันธ์ที่สูงกับความเคร่งครัดในคุณธรรมตามหลักศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่าของความซื่อสัตย์ของสังคมไทยในฐานะคุณธรรมและคุณงามความดีประเภทหนึ่ง ที่สามารถนำไปปลูกฝัง หรือ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในสังคม