EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>อ-ชีวิตคนไทย 4.0: ความเสี่ยง ความเป็นธรรม และความพร้อมรับมือและตั้งหลักใหม่-อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
อ-ชีวิตคนไทย 4.0: ความเสี่ยง ความเป็นธรรม และความพร้อมรับมือและตั้งหลักใหม่-อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ   โพสต์ เมื่อ 21 กันยายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 480 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 74 ครั้ง

งานวิจัยนี้วิเคราะห์นัยด้านความเสี่ยงและความเป็นธรรมในชีวิตและการดำรงชีวิตของคนไทยภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ เพื่อเสนอแนวคิดสำหรับการวางแผนนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม โดยการวิเคราะห์ตัวอย่างปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต ข้อค้นพบหลักคือ ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ปัจจัยต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันอยู่ตลอดเวลา ความไม่แน่นอนและความคลุมเครือของปรากฏการณ์ต่าง ๆ จะทำให้เกิดสภาวะวิกฤตถาวรที่มีปัญหาโลกแตกเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน จึงยากต่อการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมและเด็ดขาด ปัญหาโลกแตกจะยิ่งทำให้คนไทยประสบกับความเสี่ยงเชิงระบบมากยิ่งขึ้นอีกในทุกด้านของการใช้ชีวิต

ในขณะเดียวกัน กระแสปัจเจกภิวัตน์ของสังคมไทยแม้เปิดโอกาสให้คนไทยมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตมากขึ้น แต่ก็ทำให้แต่ละคนต้องแบกรับและจัดการกับความเสี่ยงด้วยตนเองมากขึ้นท่ามกลางแนวโน้มการลดลงของทุนทางสังคมของครอบครัวและชุมชนแต่เดิมที่เคยช่วยรองรับความเสี่ยงเชิงระบบ อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมทั้งระหว่างกลุ่มคนและระหว่างพื้นที่ ประกอบกับขีดความสามารถที่จำกัดของภาครัฐจะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาโลกแตกเป็นไปได้ยาก และทำให้การจัดสรรผลประโยชน์และความเสี่ยงยังคงไม่เป็นธรรมเช่นเดิมหรืออาจแย่ลงกว่าเดิม ปัจจัยที่พัวพันกันนี้ยิ่งทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบเพิ่มมากขึ้นทั้งสำหรับปัจเจกบุคคลและสังคมไทยโดยรวม

ด้วยเหตุที่ปัญหาโลกแตก ความเสี่ยงเชิงระบบและความเป็นธรรมมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก การแก้ไขปัญหาในมิติใดมิติหนึ่งจึงจะขาดอีกสองมิติที่เหลือไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับทรัพย์สินส่วนรวมดังเช่นปัญหาฝุ่นควันและปัญหาน้ำท่วม นอกเหนือไปจากการจัดหาสวัสดิการสังคมที่รองรับความเสี่ยงระดับบุคคล จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาโลกแตกคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการออกแบบนโยบายสาธารณะรวมทั้งการปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจสังคมให้เป็นตามแนวคิดความเป็นธรรมเชิงสัญญานิยมแบบที่เน้นการสร้างประโยชน์ให้กับคนด้อยโอกาสก่อนกลุ่มคนอื่น ส่วนการออกแบบและดำเนินนโยบายสาธารณะก็ต้องเปิดมุมมองและแนวทางเป็นแบบองค์รวมตามแนวคิดเชิงระบบ เชิงวิพากษ์ เชิงออกแบบและเชิงอนาคต และให้ความสำคัญไม่เพียงเฉพาะข้อมูลตามแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องนำแนวคิดและมุมมองของผู้คนที่หลากหลายเข้ามาร่วมกันกำหนดกรอบการวิเคราะห์และกระบวนการที่มุ่งหาทางออกร่วมกัน

ในด้านกระบวนการ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาเวทีการร่วมหารือในทุกระดับ ซึ่งมุ่งสร้างความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มักมีเงื่อนไข มุมมองและความมุ่งหวังต่างกัน วัตถุประสงค์หลักคือการออกแบบสถาบันเพื่อพัฒนาการอภิบาลด้วยเครือข่ายที่เข้ามาแทนโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ในการกำกับและจัดการทรัพย์สินส่วนรวมของสังคม พร้อมกันนี้ แนวทางการทดลองดำเนินการจริงแล้วถอดบทเรียนเพื่อนำกลับปรับปรุงกระบวนการและสถาบันในการแก้ไขปัญหา จะช่วยบรรเทาความไม่เป็นธรรมเชิงกระบวนการ และนำไปสู่ความเป็นธรรมเชิงผลลัพธ์ไปพร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐและทุกฝ่าย ความสามารถในการฟื้นตัวและตั้งหลักใหม่นี้จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบที่มาพร้อมกับปัญหาโลกแตกได้ในที่สุด