งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการเชิงลึก (insights) ของผู้ใช้สื่อออนไลน์แต่ละรุ่นอายุในการสื่อสารระหว่างกันบนพื้นที่ออนไลน์ การรับรู้ความแตกต่างเกี่ยวกับรูปแบบความคิด ด้านวิถีการดำเนินชีวิต และด้านวิถีเทคโนโลยีระหว่างกลุ่มคนแต่ละรุ่นอายุในสังคมกับการสื่อสารด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัล (digital empathy) 2) เพื่อพัฒนาและทดลองต้นแบบการสื่อสารรณรงค์ออนไลน์และการสร้างการสนทนาระหว่างรุ่นอายุที่เอื้อต่อการส่งเสริมความสามารถการเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัลในการสื่อสารระหว่างรุ่นอายุบนพื้นที่ออนไลน์ และ 3) เพื่อถอดบทเรียนจากทดลองใช้ต้นแบบการสื่อสารรณรงค์ออนไลน์ฯ และสังเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมในการออกแบบการสื่อสารระหว่างรุ่นอายุที่เอื้อต่อการส่งเสริมความสามารถการเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัล งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ดำเนินการเก็บข้อมูลหลากหลายวิธีกระบวนการตามแนวคิดเชิงออกแบบ คือ การทำความเข้าใจ การกำหนดปัญหาให้ชัดเจน การระดมความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา การสร้างต้นแบบสำหรับแนวทางที่ถูกเลือก และการทดสอบต้นแบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการในวงเกลียวหรือรอบต่อไป
ผลการศึกษาการพัฒนาต้นแบบการสื่อสารรณรงค์ในรูปแบบคลิปวีดีโอและบทความ จำนวน 6 ชิ้น เผยแพร่ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กและติ๊กต๊อก มีสถิติการรับชมและการมีส่วนร่วมทางช่องทาง Facebook รวมทั้งสิ้น 834,583 ครั้ง และทางช่องทาง Tiktok รวมทั้งสิ้น 168,692 ครั้ง ภายหลังการถอดบทเรียนจากการทดลองใช้ต้นแบบ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการมีความร่วมรู้สึกทางดิจิทัล (digital empathy) ในการสื่อสารออนไลน์กับคนต่างรุ่นอายุ และตระหนักรู้ถึงผลในเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นหากมีความร่วมรู้สึกทางดิจิทัลในการสื่อสาร รวมถึงยังมีความตระหนักรู้ถึงความสามารถของตนที่สามารถเริ่มต้นเปลี่ยนความคิด ความเห็นในการสื่อสารออกไป การรับฟัง การตอบโต้ด้วยการเงียบ และการทำความเข้าใจว่าทำไมคนอื่นจึงคิดและสื่อสารเช่นนั้นมากกว่าที่จะไปคาดหวังให้คนอื่นมาฟังและเข้าใจตนเองก่อน