EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ว-การปรับปรุงดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาดัชนี BCG ด้านการท่องเที่ยว-วรัญญา บุตรบุรี และคณะ
ว-การปรับปรุงดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาดัชนี BCG ด้านการท่องเที่ยว-วรัญญา บุตรบุรี และคณะ
ผู้วิจัย : วรัญญา บุตรบุรี และคณะ   โพสต์ เมื่อ 04 กันยายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 568 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 122 ครั้ง

ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและเป็นประเทศปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจน พ.ศ. 2556 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก และมีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากเป็นอันดับ 7 ของโลก (UNWTO, 2014) นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของไทยยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใน พ.ศ. 2558 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้วัดความพร้อมในการรองรับและการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดความพร้อมในการรองรับ และเป็นข้อมูลประกอบการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำดัชนีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวระดับจังหวัดในประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ World Tourism Organization (UNWTO, 2020) ใน พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเยือนกว่า 40 ล้านคน ซึ่งมากเป็นลำดับ 8 ของโลก และสร้างรายรับจากการท่องเที่ยวสูงถึง 6.1 หมื่นล้านดอลล่าสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีรายรับจากการท่องเที่ยวสูงเป็นลำดับ 4 ของโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับได้อย่างทันเหตุการณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงให้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อใช้วัดความพร้อมในการรองรับด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยใน พ.ศ. 2560 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาเป็นดัชนีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด และมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2562

จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหยุดชะงักกิจกรรมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการด้าน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก จนกระทั่งปลาย พ.ศ. 2565 การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มถูกควบคุมได้มากขึ้น ทำให้กิจกรรมท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง คณะวิจัยจึงมีการปรับปรุงฐานข้อมูลและดัชนีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเพื่อใช้สำรวจถึงความพร้อมในการรองรับด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ในขณะที่การท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการจ้างงานในภาคบริการเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงและจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบดังกล่าว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายทั้งในระดับสากลและระดับชาติจึงมีการปรับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ส่งผลให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2565 และต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2570 เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้ปรับเอาแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้าสู่แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) ด้วย (สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2564)

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับประเทศ การศึกษานี้จึงได้พัฒนาตัวชี้วัดและดัชนีเพื่อติดตามการพัฒนาและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวตามแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากชุดดัชนีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด โดยมีการปรับปรุงและเพิ่มตัวชี้วัด และจัดกลุ่มตัวชี้วัดที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาในชุดดัชนีที่จัดทำขึ้นในการศึกษาครั้งนี้