EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>ป-การลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือโดยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ-ปานพิมพ์ นพรัตน์ศุภสิน
ป-การลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือโดยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ-ปานพิมพ์ นพรัตน์ศุภสิน
ผู้วิจัย : ปานพิมพ์ นพรัตน์ศุภสิน   โพสต์ เมื่อ 01 กันยายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 103 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 24 ครั้ง

ที่มาของหมอกควันในภาคเหนือตอนบนที่สำคัญแหล่งหนึ่งคือหมอกควันที่มาจากการเผาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ บน พื้นที่สูงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี จากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมควบคู่กับจุดความร้อนและข้อมูลการใช้ที่ดิน พบว่า มีการเผาซ้ำในที่เดิมติดต่อกันนานหลายปี อาจจะเนื่องจากเกษตรกรผู้ใช้ที่ดินไม่มีทางเลือกอื่นในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงมีการปลูกพืชครั้งเดียวในฤดูฝนแล้วทิ้งพื้นที่เพาะปลูกไว้พร้อมกับเศษซากพืช ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะมีวัชพืชขึ้นปกคลุมด้วย เมื่อมีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลใหม่จึงต้องมีการกำจัดวัชพืชที่ตากให้แห้งแล้วเผารวมกับเศษซากพืชที่เหลืออยู่ จึงเกิดหมอกควันขึ้น ถึงแม้ว่าภาครัฐจะได้มีนโยบายและมาตรการป้องกันและแก้ไขมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบันก็ตาม รวมทั้ง มีการเสนอกฎหมายอากาศสะอาดจากพรรคการเมืองและจากภาคประชาชน แต่ก็เป็นมาตรการควบคุมจากหน่วยงานของรัฐมากกว่าใช้กลไกการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและเกษตรกรเพื่อสร้างทางเลือกอื่นในการจัดการพื้นที่เพาะปลูก จึงไม่สามารถแก้ปัญหาหมอกควันได้ การศึกษานี้จึงได้เสนอการจัดหาแหล่งน้ำควบคู่กับการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่สูงที่ปลูกพืชครั้งเดียวมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชได้สองครั้ง โดยการนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) มาสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ด้านล่างส่งขึ้นสู่พื้นที่ด้านบนที่ได้จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำไว้แล้ว ดังกรณีตัวอย่างโครงการจัดหาน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ที่บ้านโป่งคำ หมู่ที่ 5 ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ที่ดำเนินการในปี พ.ศ.2563 โดยสถานีพัฒนาที่ดินน่าน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 จังหวัดน่าน ผลการดำเนินงานดังกล่าวนอกจากเป็นการลดปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนแล้วยังเป็นการลดการชะล้างพังทลายของดินซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอีกด้านหนึ่งด้วย