การส่งเสริมจัดการขยะที่ต้นทางเป็นหัวใจของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน การส่งเสริมโรงเรียนให้มีการจัดการขยะที่ต้นทาง มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่ศักยภาพในการลดที่ต้นทางและเป็นสถานที่บ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนมีความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากการบริโภคของตัวเอง งานวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ได้ดำเนินกิจกรรมใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้โรงเรียนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการดำเนินงานตามแนวทางโรงเรียนปลอดขยะ (Zero-waste school) 2) การปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างวินัยของเยาวชนและพัฒนาทักษะและศักยภาพให้เยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดค่าย FLY และ 3) การส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์และการใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์เพื่อทำสวนผักในโรงเรียน
ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการทำให้ได้พบประเด็นท้าทายหลายประการต่อการยกระดับโรงเรียนสู่โรงเรียนปลอดขยะ ประเด็นร่วมที่พบคือ โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ทางวิชาการเป็นหลัก และครูมีภารกิจด้านต่างๆ มาก ทำให้การจัดสรรเวลาและบุคลากรในการทำโครงการโรงเรียนปลอดขยะยังทำได้ไม่เต็มที่และเป็นลักษณะการพึ่งพา คณะผู้วิจัยให้ไปทำกิจกรรมให้โรงเรียนมากกว่าเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ส่วนการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นหลักสูตร 1 วัน ช่วยให้ผู้บริหารและครูมีความตระหนักถึงปัญหาผลกระทบของขยะและมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับแนวคิดปลอดขยะแต่ด้วยระยะเวลาอบรมที่สั้นจึงมีข้อจำกัดในการถ่ายทอดความรู้รายละเอียดในบางเรื่อง
ส่วนการจัดค่าย FLY ทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมมีตระหนักถึงปัญหาขยะที่เชื่อมโยงกับการบริโภคและพฤติกรรมการทิ้งขยะของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้นและได้รับการฝึกทักษะกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) กระตุ้นให้เยาวชนค้นหาวิธีการแก้ปัญหา การประกวดโครงงานลดขยะยังช่วยส่งเสริมให้เยาวชนฝึกทักษะการนำเสนอและการสื่อสาร ส่วนการให้เงินรางวัลเป็นทุนดำเนินโครงการยังเป็นส่งเสริมให้เยาวชนลงมือแก้ปัญหานั้น สำหรับกิจกรรมที่ 3 โรงเรียนวัดสร้อยทองสามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์และการใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ในเรื่องการปลูกผักแนวตั้งได้
คณะผู้วิจัยเสนอปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาโรงเรียนปลอดขยะ ได้แก่ การมีนโยบายที่ชัดเจนจากต้นสังกัด การให้ความสำคัญของผู้บริหาร การมีครูแกนนำที่มีความตระหนักและมีความตั้งใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีครูแกนนำจำนวนที่มากพอที่จะทำกิจกรรมในเชิงรุกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ การขับเคลื่อนให้เกิดปัจจัยเหล่านี้จำเป็นต้องมีการผลักดันในระดับนโยบายจากระดับกรม กระทรวงหรือหน่วยงานต้นสังกัด ควรกำหนดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้มีการดำเนินโครงการอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการอบรมครูแกนนำและศึกษานิเทศก์ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาและแนวคิดโรงเรียนปลอดขยะ โดยสามารถผนวกงบประมาณสนับสนุนให้กับโรงเรียนที่ผ่านการอบรมและจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอน สื่อคลิปวิดีโอต่างๆ ที่ทำให้ครูพร้อมนำไปใช้สอนนักเรียนต่อได้ รวมไปถึงการพัฒนาเป็นหลักสูตรเสริมกับหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถบูรณาการเข้าไปในวิชาเรียนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควรดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาโรงเรียนปลอดขยะเพื่อสร้างแนวร่วมผู้นำเยาวชนที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สังคมกำลังเผชิญอยู่