EN/TH
EN/TH
กลุ่มนวัตกรรมทางสังคม>จ-นิยามความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัลสำหรับสังคมไทย 5.0: หนทางในการอยู่ร่วมกันจากประสบการณ์เชิงลึกระหว่างประชากรต่างรุ่นในสังคม-จุลนี เทียนไทย และคณะ
จ-นิยามความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัลสำหรับสังคมไทย 5.0: หนทางในการอยู่ร่วมกันจากประสบการณ์เชิงลึกระหว่างประชากรต่างรุ่นในสังคม-จุลนี เทียนไทย และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย และคณะ   โพสต์ เมื่อ 01 กันยายน 2023
จำนวนผู้เข้าชม 573 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 186 ครั้ง

งานวิจัยเรื่อง “นิยามความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัลสำหรับสังคมไทย 5.0: หนทางในการอยู่ร่วมกันจากประสบการณ์เชิงลึกระหว่างประชากรต่างรุ่นในสังคม” มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อค้นหานิยามของความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัลจากมุมมองเชิงประสบการณ์ของประชากรต่างรุ่นในสังคมที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในสังคมไทย 5.0 เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรต่างรุ่นในสังคม เพื่อค้นหาทางออกในการสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจากประสบการณ์ชีวิตของประชากรต่างรุ่นในสังคม และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์และการเกื้อกูลกันระหว่างประชากรต่างรุ่นในสังคมที่นำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัลในสังคมไทย 5.0

การศึกษาครั้งนี้ใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Makers) ได้แก่ ผู้แทนหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4 หน่วยงาน จำนวน 12 คน และประชากรต่างรุ่น (วัยเรียน วัยทำงาน วัยหลังวัยทำงาน/เกษียณอายุ โดยมีคุณลักษณะสำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และใช้ชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประชากรรุ่นอื่น ๆ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงและความเกื้อกูลกันของประชากรต่างรุ่นในสังคม โดยจำแนกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ 1) ประชากรวัยเรียน (Students) อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 30 คน ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงกับการเรียนรู้เป็นหลัก 2) ประชากรวัยทำงาน (Employed Population) จำนวน 30 คนที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการทำงานเป็นส่วนใหญ่ และ 3) ประชากรวัยหลังวัยทำงาน (Post-Employed Population) จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรวัยเกษียณจากการทำงาน หรือการทำงานไม่ได้เป็นกิจกรรมหลักในการดำเนินชีวิต แต่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตหลังวัยทำงานในมิติอื่น ๆ โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมอีก 5 คน รวมจำนวนผู้ให้ข้อมูลสำคัญแก่งานวิจัยทั้งหมด 107 คน

จากการศึกษาพบว่า นิยามความเป็นอยู่ที่ดีของโลกดิจิทัลจากมุมมองเชิงประสบการณ์ของประชากรต่างรุ่นในสังคมที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในสังคมไทย 5.0 มีความแตกต่างกันไปสำหรับวัยเรียน ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สมดุลและมีคุณค่า มีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกับคนใกล้ชิด ได้ทำตามเป้าหมายและความต้องการของตนเองภายใต้การตระหนักถึงประเด็นสังคม สำหรับวัยทำงาน การมีชีวิตที่ดีไม่จำกัดเพียงมิติการทำงานแต่คือ การรักษาสมดุลเพื่อให้เกิด Work-Life Balance ในชีวิตให้ได้และสุดท้ายวัยหลังวัยทำงาน ชีวิตที่ดีคือ การอยู่ดี กินดี มีสุข อย่างเรียบง่าย สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ และเห็นความสำเร็จของลูกหลานซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนกลับไปยังนิยามความเป็นอยู่ที่ดีในโลกดิจิทัลในแต่ละช่วงวัยได้ว่า ในวัยเรียน เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย พวกเขาสามารถเข้าสังคมและได้รับการยอมรับในโลกออนไลน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมพบสังคมใหม่ได้อีกด้วย ส่วนวัยทำงาน พวกเขาเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยเติมเต็มชีวิตจากทั้งนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากตัวเทคโนโลยีเองอย่างการเป็น Office Syndrome ไปจนถึงการช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ นอกจากนี้การเข้าถึงข่าวสารยังทำให้เกิดความเข้าใจร่วมในสังคมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย และสุดท้ายวัยหลังวัยทำงาน เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ชีวิตของพวกเขาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจากการได้รับการอำนวยความสะดวกในชีวิต ได้รับความบันเทิงช่วยคลายเหงา ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังในโลกออนไลน์ ทั้งยังทำให้พวกเขาสามารถยึดโยงความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับยุคสมัยใหม่ด้วย

ประชากรต่างรุ่นในการศึกษาโครงการวิจัยนี้ลงความเห็นว่า สังคมไทยสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมดิจิทัลร่วมกัน (Collective Well-Being) ได้ หากเริ่มจากการสร้างวิธีคิดพื้นฐานที่มีอยู่ร่วมกัน เช่น การตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน การจัดการกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี และการกระจายความรู้ด้านแนวทางในการใช้เทคโนโลยีที่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ โดย Collective Digital Well-Being จะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนในสังคมพร้อมปรับตัวเข้ากับการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยัดเยียด เมื่อคนยอมรับและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันแล้วจึงผลักดันสู่โอกาสของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในความแตกต่างระหว่างประชากรต่างวัยในสังคมไทย สิ่งนี้เองจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการยื่นมือเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมดิจิทัล เป็นทางออกที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยกันประคับประคองให้ทุกคนในมีโอกาสได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกันได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ละทิ้ง หรือละเลยผู้ที่ได้รับผลกระทบในสังคม สิ่งที่สนับสนุนองค์ประกอบเหล่านี้อาจทำได้ผ่านการสร้างนวัตกรรมช่วยในการคัดกรองและประเมินวิธีการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ได้ โดยควรสร้างเสริมองค์ความรู้แบบนี้ตั้งแต่เยาว์วัย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ภาครัฐ การออกกฎหมาย รวมถึงองค์กรภาคเอกชนก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยสนับสนุนให้เกิดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีในโลกดิจิทัลในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

จากข้อค้นพบดังกล่าว คณะวิจัยได้สร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทางดิจิทัลสำหรับสังคมไทย 5.0 ประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการพัฒนานโยบาย โดยเฉพาะการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัทด้านเครือข่ายโทรคมนาคม และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสูงสังคมดิจิทัลและสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างช่วงวัย และมิติที่ 2 คือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัลสำหรับประเทศไทย 5.0 โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสให้มีการกำกับดูแลการใช้บริการดิจิทัลอย่างเป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมแบบร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันบนโลกดิจิทัลสำหรับสังคมไทย 5.0 และด้านอื่น ๆ ด้วย