ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างมลพิษ
และการลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เมื่อทรัพยากรทางธรรมชาติต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยและวัตถุดิบ
สำคัญต่อการเกษตร การกล่าวถึงเกษตรกรรมจึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปโดยปริยาย ทั้งนี้ นอกจากการเกษตรจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว
การเกษตรและปศุสัตว์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน รวมถึงกิจกรรมเช่น การเปิดหน้าดิน การปล่อยน้ำออกจากที่ชุ่มน้ำ การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ การใช้ปุ๋ย การจัดการมูลสัตว์ การใช้เชื้อเพลง และการปลูกข้าว เป็นต้น แนวโน้มนวัตกรรมและเทคโนโลยีท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพ
ภูมิอากาศจึงไม่สามารถมองผ่านการเกษตรได้อย่างเดียว แต่จะต้องเห็นองค์รวมของการเปลี่ยนแปลงด้วย
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่เชื่อมต่อกันในทุกอณู และการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่บริบทชีวภาพเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องเข้ามาสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้เกษตรกรผันตัวกลายมาเป็นเกษตรกรวิถีใหม่มากขึ้น โดยข้อเสนอเชิงนโยบายรวมถึงการเพิ่มศักยภาพโมเดลธุรกิจเกษตรกรรายย่อย การพัฒนาเว็บ 2.0 สำหรับวิทยาศาสตร์การเกษตรภาคประชาชน และการส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับพืชเฉพาะถิ่น ซึ่งล้วนจะเป็นการสร้างเกษตรกรวิถีใหม่ที่มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและเทคโนโลยีควบคู่กันไป เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเกษตรกรเองและต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน