EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>น-ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันต่อพฤติกรรมเอื้อสังคม-นพพล วิทย์วงพงศ์ และสมทิพ วัฒนพงษ์วานิช
น-ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันต่อพฤติกรรมเอื้อสังคม-นพพล วิทย์วงพงศ์ และสมทิพ วัฒนพงษ์วานิช
ผู้วิจัย : รศ. ดร. นพพล วิทย์วรพงศ์ และ อ. ดร. สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช   โพสต์ เมื่อ 18 สิงหาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 259 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 6 ครั้ง

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ การวัดระดับพฤติกรรมเอื้อสังคม และการประมาณค่าผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันต่อพฤติกรรมเอื้อสังคม โดยพฤติกรรมเอื้อสังคม หมายถึง การกระทำที่สร้างต้นทุนแก่ผู้กระทำแต่ยังประโยชน์แก่บุคคลอื่น และการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลัน หมายถึง การมีสุขภาพในระดับที่แย่ลงอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน การศึกษานี้ประกอบไปด้วยการศึกษาย่อย 2 ชิ้น การศึกษาย่อยที่ 1 เป็นการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปในจังหวัด กรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการ Multi-stage Cluster Random Sampling ขนาดตัวอย่างเท่ากับ 1,1412 คน การศึกษาย่อยที่ 2 เป็นการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากนิสิต/นักศึกษาในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 6 แห่ง โดยใช้ วิธีการ Non-Probabilistic Sampling ขนาดตัวอย่างเท่ากับ 1,055 คน ในการตอบวัตถุประสงค์ประการแรก การศึกษานี้กำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการที่ครอบคลุมพฤติกรรมเอื้อสังคมในช่วงการแพร่ระบาดหนักของโควิด 19 พฤติกรรมเอื้อสังคมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และแนวโน้มเอื้อสังคม หากพิจารณาเฉพาะพฤติกรรมเอื้อสังคมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การศึกษาย่อยที่ 1 พบว่าร้อยละ 30.96 ของกลุ่มตัวอย่างได้ให้การช่วยเหลือ ผู้อื่น ร้อยละ 57.48 มีการบริจาคเงิน/สิ่งของ ร้อยละ 6.30 บริจาคเลือด และ ร้อยละ 1.31 ได้เป็นอาสาสมัคร การศึกษาย่อยที่ 2 พบว่าร้อยละ 86.92 ของกลุ่มตัวอย่างได้ให้การช่วยเหลือผู้อื่น ร้อยละ 64.43 มีการบริจาค เงิน/สิ่งของ ร้อยละ 7.01 บริจาคเลือด และร้อยละ 15.26 เป็นอาสาสมัคร ในการตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 การศึกษานี้ใช้การวิเคราะห์สมการถดถอยและกำหนดให้พฤติกรรมเอื้อสังคมสามารถอธิบายได้ด้วยลักษณะส่วนบุคคล ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล และการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลัน โดยเน้นการพิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันเป็นหลัก การศึกษานี้กำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการที่หลากหลาย ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพตั้งแต่ระดับน้อย (ความเจ็บป่วยที่รักษาได้) ไประดับมาก (ความเจ็บป่วยที่รักษาไม่ได้) ไปจนถึงการใกล้ตาย ในภาพรวม พบว่าประสบการณ์ป่วยหนักหรือเฉียดตาย ส่งผลในเชิงบวกต่อการมีพฤติกรรมเอื้อสังคม สำหรับกลุ่มตัวอย่างประชาชนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ประสบการณ์ป่วยหนักหรือเฉียดตายส่งผลให้พฤติกรรมเอื้อสังคมในช่วงโควิด-19 การบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบริจาคเลือด และการเป็นอาสาสมัครมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มตัวอย่างนิสิต/นักศึกษา ประสบการณ์ ป่วยหนักหรือเฉียดตายส่งผลให้ความน่าจะเป็นในการช่วยเหลือคนนอกครอบครัวเพิ่มขึ้น ผลของการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างทั้งคู่สอดคล้องกับสมมติฐาน Altruism Born of Suffering ที่มองว่าเหตุการณ์เลวร้าย (หรือสุขภาพที่แย่ลง) เพิ่มพูนความเข้มแข็งและความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และสร้างแรงจูงใจในการช่วยให้ผู้อื่นไม่ต้องประสบกับความทุกข์ เสมือนว่าพฤติกรรมเอื้อสังคมเป็นกระบวนการจัดการกับความทุกข์จากความเจ็บป่วยประเภทหนึ่ง การศึกษานี้มีนัยต่อการระบุกลุ่มเป้าหมายของการกระตุ้นพฤติกรรมเอื้อสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องการระดมทุนหรือระดมแรงในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในสังคม การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการช่วยเหลือสังคมในกลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพรุนแรง เคยป่วยหนักหรือเคยเฉียดตายน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยอาจไปขอรับความช่วยเหลือในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย เช่น โรงพยาบาล หรือ มูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความตาย เป็นต้น