ประชากรในโลกได้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรของโลกจะสูงจากปัจจุบัน 7,577 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2019 ไปเป็น 9,100 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2050 (Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO), 2017) โดยจะทำให้ความต้องการอาหารในโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยร้อยละ 70 ในขณะที่ทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ก็มีแนวโน้มเสื่อมโทรม ลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ แม้ว่าในอดีตได้มีการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่เรียกกันว่า การปฏิวัติเขียว ซึ่งมีการวิจัยและส่งเสริมการเกษตรในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การจัดการผลิต การจัดการพันธุกรรมในระดับนานาชาติ ทำให้มีการผลิตอาหารในโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สามารถมีผลผลิตเกษตรเลี้ยงประชากรในโลกที่เพิ่มขึ้นได้ สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารในหลายๆประเทศไปได้มาก แต่ก็ยังมีปัญหาการขาดแคลนอาหารอยู่บ้างในบางทวีปอยู่ ในปัจจุบันวงการเกษตรมีความเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งในบริบทของเศรษฐกิจสังคม ในด้านเทคโนโลยีการเกษตร ในการจัดการการผลิตและการตลาด ซึ่งในการวางแผนงานวิจัย และ การศึกษาการเกษตร ต้องพิจารณาดูแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้น บทความนี้จะได้สำรวจบทความทางวิชาการในวารสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ และข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเพื่อดูแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงต่างๆในแวดวงการเกษตรที่กำลังคืบคลานเข้ามาในทศวรรษหน้า ทั้งด้านบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม เทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น และการผลิต การตลาดผลผลิตเกษตรและอาหารในระดับนานาชาติเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับทิศทางการวิจัยและการศึกษาในวงการเกษตรในประเทศไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ในอนาคต