EN/TH
EN/TH
วิจัยการท่องเที่ยว>พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการท่องเที่ยวชุมชน
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการท่องเที่ยวชุมชน
ผู้วิจัย : ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ   โพสต์ เมื่อ 24 มีนาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 358 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 96 ครั้ง

ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนกำลังได้รับความนิยมและได้รับการส่งเสริมจากส่วนราชการต่างๆ โดยมีสมมติฐานว่าการท่องเที่ยวชุมชนสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) วิวัฒนาการและการพัฒนาของชุมชนท่องเที่ยว 2) ศึกษาผลประโยชน์สุทธิที่ชุมชนได้จากการท่องเที่ยว และวิธีการจัดสรรผลประโยชน์ของชุมชน 3) พฤติกรรมและความพึงพอใจนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการการท่องเที่ยวโดยชุมชน 4) บทบาทของภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่น และบทบาทของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวชุมชน 5) เสนอแนวทางวิจัยและพัฒนาที่จะทำให้การท่องเที่ยวชุมชนมีความหลากหลายและมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าและยั่งยืน

จากการศึกษานี้พบว่า ชุมชนกรณีศึกษามีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการให้การท่องเที่ยวเป็นทางเลือกใหม่ เนื่องมาจากชุมชนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เศรษฐกิจหลักของชุมชนซบเซาลง หรือชุมชนมีภาพลักษณ์ในเชิงลบว่ามีการตัดไม้ทำลายป่า หรือบางชุมชนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ และมีความต้องการสร้างบริการที่พักและอาหารรองรับผู้มาเยือน

ในด้านการจัดสรรผลประโยชน์ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพยายามกระจายผลประโยชน์ให้สมาชิกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะชุมชนโฮมสเตย์ที่มีการจัดลำดับคิว หรือกระจายลูกค้าให้สมาชิกทุกคนเท่าๆ กันนอกจากนี้ บางพื้นที่ยังมีการจัดสรรผลประโยชน์บางส่วนให้กับบุคคลนอกกลุ่มและสาธารณประโยชน์ด้วย

จากการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ พบว่า กิจกรรม/บริการสนับสนุนการท่องเที่ยวต่างๆ มีผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ การแสดง และฐานเรียนรู้ ซึ่งบริการเหล่านี้มีต้นทุนต่ำมาก นอกจากนี้ บริการอาหาร ซึ่งเป็นบริการที่สร้างขนาดผลตอบแทนได้สูงและคืนทุนเร็ว ในขณะที่โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นบริการที่มีการลงทุนเริ่มแรกค่อนข้างสูงกว่าบริการอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ พบว่า บางพื้นที่ยังไม่สามารถคืนทุนได้ภายในระยะ 10 ปี และในภาพรวมบริการโฮมสเตย์ยังคืนทุนได้ช้ากว่าบริการสนับสนุนท่องเที่ยวอื่นๆ

ในด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้ใช้บริการชุมชนโฮมสเตย์ พบว่า ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การเดินทางของผู้ใช้บริการ โดยในชุมชนที่ลูกค้าส่วนใหญ่มาเที่ยวแบบพักผ่อน พบว่า ผู้ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกับกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มครอบครัวและกลุ่มเพื่อน และส่วนใหญ่มีช่องทางการรับข้อมูลชุมชนผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Facebook และส่วนใหญ่จะใช้ยานพาหนะที่ใช้เดินทางมาชุมชนเป็นรถยนต์ส่วนตัว ในขณะที่ชุมชนที่ลูกค้าส่วนใหญ่มาศึกษาดูงาน พบว่า ผู้ร่วมเดินทางก็คือคณะที่เดินทางมาด้วยกัน และส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลชุมชนมาจากการแนะนำของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานภาครัฐ หรือ อปท. ที่จัดให้มีการศึกษาดูงาน หรือมหาวิทยาลัย รวมถึงอาจมีการบอกต่อหรือแนะนำโดยเพื่อนหรือญาติ และส่วนใหญ่เดินทางมาเป็นหมู่คณะด้วยรถตู้หรือรถทัวร์

ในด้านความพึงพอใจ ในภาพรวม ชุมชนท่องเที่ยวส่วนใหญ่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีเป็นที่พึงพอใจสำหรับลูกค้า แต่ยังมีองค์ประกอบบางด้านที่ลูกค้ายังคงคาดหวังที่จะได้รับจากชุมชนเพิ่มขึ้น คือ วิถีหรืออัตลักษณ์ที่สะท้อนจุดเด่นของชุมชน รวมถึงช่องทางการเข้าถึงข้อมูลบริการต่างๆ ของชุมชน ที่อาจจะต้องเพิ่มช่องทางที่สะดวกและมีการเคลื่อนไหวข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของภาครัฐบาลมีบทบาทส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นการส่งเสริมผ่านโครงการสนับสนุนต่างๆ นอกจากนี้ สถาบันการศึกษายังเป็นอีกหน่วยงานที่สำคัญ ที่ได้เข้าไปสนับสนุนทางองค์ความรู้ทางวิชาการให้กับชุมชน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแม้จะไม่ได้มีส่วนพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนโดยตรงแต่ผลจากการพัฒนาชุมชนในภาพรวมก็ทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในชุมชนมีความพร้อมและเอื้อประโยชน์ต่อการจัดการท่องเที่ยวด้วย

ผลจากการพัฒนา พบว่า แต่ละชุมชนสามารถสร้างจุดเด่น หรือนวัตกรรมการจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีได้ เช่น การตลาด การควบคุมคุณภาพบริการ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถเป็นตัวแบบให้กับชุมชนอื่นๆ และสามารถนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับชุมชน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนตนเองได้

ข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1) การพัฒนาควรสอดคล้องตามตามบริบทของชุมชน สืบเนื่องจากบริบทและประเภทของชุมชนท่องเที่ยวมีความหลากหลาย ดังนั้น การเข้าไปพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวแบบนโยบายสูตรเดียวไม่น่าจะมีประสิทธิผล 2) ผู้พัฒนาควรมีเข้าใจมีความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพพื้นฐานของชุมชน และ 3) การพัฒนาการท่องเที่ยวต้องมีการจับคู่ตลาดที่ถูกต้อง