EN/TH
EN/TH
วิจัยการท่องเที่ยว>การศึกษาเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร: จาก โซเชียลมีเดียถึงชุมชนท่องเที่ยว
การศึกษาเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร: จาก โซเชียลมีเดียถึงชุมชนท่องเที่ยว
ผู้วิจัย : ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ   โพสต์ เมื่อ 22 มีนาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 153 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 6 ครั้ง

ความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทยในด้านการสร้างรายได้ในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวชุมชนในฐานะกลไกและเครื่องมือในการสร้างและกระจายรายได้แก่รากหญ้าโดยเดินหน้าประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยววิถีไทยอย่างเข้มข้น และหวังว่าจะมีการกระจายผลประโยชน์ไปยังเมืองรองและชุมชนท้องถิ่น

ในขณะที่การท่องเที่ยวชุมชนมีผลได้เด่นชัดมากขึ้น โซเชียลมีเดียก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน ชุดโครงการนี้ จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท่องเที่ยวกับสื่อออนไลน์ และจะประเมินผลได้จากการท่องเที่ยวในระดับครัวเรือนและผลกระทบของการท่องเที่ยวในระดับชุมชนบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ด้านบัญชีและการเงิน เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้งบประมาณสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

1) เพื่อศึกษาความต้องการ พฤติกรรม ของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่สนใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาพรวมผ่านการแลกเปลี่ยนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

2) ศึกษาที่มาและความพึงพอใจการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่พักในโฮมสเตย์ในชุมชนท่องเที่ยวที่เป็นกรณีศึกษา

3) ประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคมที่ชุมชนที่เกี่ยวข้องได้รับจากการท่องเที่ยว

4) เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) ชุมชนท่องเที่ยวและศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จ

โครงการนี้มีโครงการย่อย 2 โครงการ คือ 1) โครงการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน และ 2) โครงการศึกษาพฤติกรรมความต้องการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดีย

การศึกษานี้มีพื้นที่กรณีศึกษาทั้งหมด 21 พื้นที่ โดยมีพื้นที่ในภาคใต้ 1 พื้นที่ พื้นที่ในภาคกลาง 4 พื้นที่พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 พื้นที่ และ 10 พื้นที่เป็นพื้นที่ในภาคเหนือ โดยมีกิจกรรมใน 3 กลุ่มคือ 1) ชุมชนท่องเที่ยวที่มีโฮมสเตย์ 2) ชุมชนที่มีกิจกรรมท่องเที่ยววันเดียว (One Day Trip) และ 3) ชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

ผลการศึกษา พบว่า ชุมชนท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จมีวิวัฒนาการมาจากวิกฤติที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน ซึ่งจำเป็นต้องหาทางเลือกใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจของชุมชน โอกาสทางเศรษฐกิจเมื่อแรกเริ่มเป็นตลาดดูงานขององค์กรปกครองในท้องถิ่น (อปท.) แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีวิวัฒนาการไปเป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ประสงค์มาพักผ่อน มีบางชุมชนที่ได้ปรับปรุงมาตรฐานให้สูงกว่ามาตรฐานโฮมสเตย์ของรัฐ

การศึกษาพบว่า ในปัจจุบันชุมชนท่องเที่ยวมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงความสามารถในการรองรับและขนาดของตลาด ชุมชนท่องเที่ยวสามารถสร้างสีสันและทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ได้ การท่องเที่ยวชุมชนมีเงื่อนไขสำคัญเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จต้องพึ่งทุนประเดิมที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ได้แก่ ทำเลที่ตั้งและทุนสังคม ส่วนปัจจัยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันได้แก่ ทุนใหม่ คือ ทุนที่สะสมจากประสบการณ์และความรู้ของแกนนำชุมชนและหัวหน้าชุมชน รวมถึงทุนมนุษย์รุ่นใหม่ที่กลับไปพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสารสนเทศที่ติดต่อกับโลกภายนอกและปัจจัยเร่ง ที่ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้แก่ การได้รับรางวัล การที่ได้รับประชาสัมพันธ์การออกสื่อโทรทัศน์ หรือประชาสัมพันธ์โดยรัฐ

ผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่า การท่องเที่ยวชุมชนสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่เศรษฐกิจรากหญ้าได้จริงแต่กระบวนการสร้างความมั่นคงด้านรายได้จะเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างช้า รายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยววันเดียว อาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้ที่สูงกว่าและจัดการได้ง่ายกว่าโฮมสเตย์ ผู้ลงทุนในโฮมสเตย์ส่วนใหญ่รับรู้กำไรจากโฮมสเตย์เพื่อเทียบกับกำไรที่คำนวณเชิงเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้คิดว่าการลงทุนในการก่อสร้างเป็นต้นทุน แต่เป็นการสร้างที่พักให้ลูกหลาน การศึกษานี้จะได้คำนวณผลตอบแทนภายใต้โมเดลการลงทุนแบบต่างๆ ส่วนผลกระทบของการท่องเที่ยวชุมชนส่วนใหญ่ยังเป็นบวกอยู่ แต่มีปัญหาขยะที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น

การศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวบนสื่อออนไลน์ พบว่านักท่องเที่ยวไทยให้ความสำคัญในเรื่องธรรมชาติ บรรยากาศ อาหาร กาแฟที่ในชุมชนท่องเที่ยว ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจความจริงแท้ (Authenticity) สภาพแวดล้อมของชุมชนและการอนุรักษ์ธรรมชาติของชุมชน การสร้างโปรแกรมท่องเที่ยวในอนาคต จึงควรเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร กาแฟ บรรยากาศสำหรับการถ่ายรูปและดื่มกาแฟ สำหรับคนไทย สภาพแวดล้อมและความจริงแท้สำหรับคนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ชุมชนมีข้อจำกัดด้านการรองรับมากโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล การท่องเที่ยวชุมชนในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสายอ่อน

ข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1) รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณการจัดการขยะให้แก่ อปท. ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นกิจกรรมวันเดียวที่นักท่องเที่ยวไม่ได้ค้างแรมเนื่องจาก อปท. ไม่สามารถเก็บค่าภาษีโรงแรมได้ 2) รัฐควรสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลางซึ่งทุกคนในชุมชนไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ลงทุนด้านการท่องเที่ยวได้ประโยชน์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เช่น ลานจอดรถ ห้องน้ำ อย่างไรก็ดี การดำเนินการเหล่านี้ ต้องมีแผนชุมชนมารองรับและต้องมาจากความต้องการของชุมชนจากการมีนักท่องเที่ยวเกินกำลังรองรับ และ 3) สร้างแพลตฟอร์มส่วนกลางที่ทำให้ชุมชนสามารถนำข้อมูลของตนเข้ามาเสนอได้ รวมทั้งสามารถแจ้งจำนวนนักท่องเที่ยวว่าได้เกินขีดความสามารถแล้วหรือไม่ เพื่อเป็นการควบคุมผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตามมา