EN/TH
EN/TH
วิจัยการท่องเที่ยว>รายงานแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืน เพื่อรองรับท่องเที่ยวไทย 4.0
รายงานแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืน เพื่อรองรับท่องเที่ยวไทย 4.0
ผู้วิจัย : ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ   โพสต์ เมื่อ 22 มีนาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 190 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 24 ครั้ง

ประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าด้านการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนผู้เดินทางมาเยือนและท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมากติดอันดับที่ 10 ของโลก และมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นลำดับที่ 4 ของโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวนานาชาติก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อมองไปในอนาคต การเพิ่มจำนวนหรือการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ความท้าทายที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยในทศวรรษหน้า คือ 1) การกระจุกตัวของการท่องเที่ยวในเชิงพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการรองรับหรือการมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไป (Over tourism) 2) ความปลอดภัย3) ระบบโลจิสติกส์ของการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดและในจังหวัด และ 4) การรับมือกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์ที่ไม่ใช่จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัจจัยเหล่านี้อาจจะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทย

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทบทวนสถานการณ์และแนวโน้มตลาดหลักทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศในระดับจังหวัดและระดับประเทศ 2) ขยายผลองค์ความรู้จากทุนวิจัยของ สกสว. ด้านศักยภาพขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวในระดับจังหวัด และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และประชาคม ในการวางแผนท่องเที่ยว เพื่อนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น 3) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการจัดการท่องเที่ยวในระดับเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองท่องเที่ยวรอง และระดับชุมชน ประชาคม และ อปท. รวมทั้งปัญหาของการกระจายอำนาจของส่วนงานภูมิภาคและข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวของท้องถิ่น 4) ศึกษาแนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถใน

การรองรับการท่องเที่ยวสร้างความเป็นธรรมด้านการใช้ประโยชน์ที่สาธารณะระหว่างนักท่องเที่ยวและประชาชนพื้นถิ่น และบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากความแออัดจากการท่องเที่ยวต่อสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ 5) สร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพหุภาคีด้านการท่องเที่ยวโดยการขับเคลื่อนดัชนีชี้วัดในระดับจังหวัด 6) สร้างกระบวนการจัดทำแผนท่องเที่ยวระดับจังหวัดร่วมกับอปท. ในพื้นที่ท่องเที่ยว และ 7) จัดทำแผนการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยระดับจังหวัดเพื่อรองรับการท่องเที่ยวไทย 4.0 สำหรับ 10 ปีข้างหน้า โดยในการศึกษานี้ มีจังหวัดที่เป็นกรณีศึกษา 5 จังหวัด คือ 1) เชียงใหม่ 2) ภูเก็ต 3) เชียงราย 4) พัทลุง และ 5) ลำปาง และศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยวขนาดเล็ก 1 เมืองคือ เมืองเชียงคาน จ.เลย

การศึกษานี้ได้ศึกษาศักยภาพและความท้าทายของเมืองกรณีศึกษาทั้ง 5 จังหวัด โดยพบว่า แต่ละเมืองมีศักยภาพในการรองรับแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ตและเชียงใหม่ที่มีความท้าทาย คือ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองในการรองรับนักท่องเที่ยวเริ่มไม่เพียงพอ นอกจากนี้ จากการพยากรณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดกรณีศึกษาทั้ง 5 จังหวัด พบว่ามีแนวโน้มมีขยายตัวในอัตราเร่งในระยะหลังปี พ.ศ. 2552 โดยการขยายตัวของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย ส่วนลำปาง และพัทลุง ได้รับอานิสงส์จากกระแสการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำให้ทั้ง 5จังหวัด มีจำนวนผู้มาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหมายความว่า เมืองจะต้องมีการเตรียมตัวรองรับการสาธารณูปโภคและที่พักเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้น เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวไม่ได้อยู่เพียงแค่การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการท่องเที่ยว แต่ต้องรวมไปถึงการใช้การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายฐานทางเศรษฐกิจของเมืองให้กว้างและหลากหลายมากขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก หน่วยงาน และภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยว จึงต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างขึ้นโดยขยายเป็นระดับเมืองและย่าน ตามหลักการพัฒนาและออกแบบเมืองที่ยั่งยืน การศึกษานี้จึงได้เสนอ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับจังหวัด ดังนี้ ยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถของ อปท. ในการวางแผนพัฒนาเมืองท่องเที่ยว 2) การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองท่องเที่ยว 3) การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวของเมือง 4) การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการมองและกำหนดภาพอนาคตเมืองท่องเที่ยว 5) การสร้างอัตลักษณ์และแบรนด์ของเมืองท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม 6) การส่งเสริมการพัฒนาและออกแบบเมืองท่องเที่ยวในระดับย่าน 7) การเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะในการพัฒนาและออกแบบเมืองท่องเที่ยว และ 8) การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อบริหารจัดการเมืองท่องเที่ยวยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ประกอบด้วย

1) จังหวัดภูเก็ต คณะวิจัยเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟรางเบา การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าและเมืองเดิม การพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเก่าภูเก็ตกับพื้นที่อื่นๆการพัฒนาและออกแบบขุมเหมืองและการรักษาและยกระดับอัตลักษณ์ของย่านท่องเที่ยว

2) จังหวัดพัทลุง คณะวิจัยเสนอยุทธศาสตร์การสร้างองค์ประกอบและภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวระดับย่าน การเสริมสร้างภูมิทัศน์เมืองให้เป็นจุดหมายตา การพัฒนาพื้นที่กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และการสร้างการรับรู้ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเมือง

3) จังหวัดเชียงราย สำหรับเมืองแม่สาย คณะวิจัยเสนอยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อพื้นที่การค้าชายแดน การสร้างการท่องเที่ยวมุมมองใหม่ในเมืองแม่สาย และการสร้างพื้นที่พหุวัฒนธรรม ส่วนเมืองเชียงของ เสนอยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อย่านทั้งหมดด้วยพื้นที่ริมแม่น้ำโขง การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ภายในเมืองเก่าเชียงของ และการพัฒนาพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตไปพร้อมกับการจัดการที่จอดรถและขนส่งสาธารณะ

4) จังหวัดเชียงใหม่ คณะวิจัยเสนอยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และส่งเสริมเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมชั้นนำของโลก การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในท้องถิ่น และการสนับสนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม

5) จังหวัดลำปาง คณะวิจัยเสนอยุทธศาสตร์การบูรณาการการบริหารจัดการ การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างมีเอกลักษณ์ การส่งเสริมอัตลักษณ์ลำปางเซรามิกซิตี้ การพัฒนาพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว และการเพิ่มศักยภาพการใช้พื้นที่ย่านการอนุรักษ์เมืองเก่า