EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>อ-[รายงานฉบับสมบูรณ์] ให้มันจบที่รุ่นเราฯ-อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ
อ-[รายงานฉบับสมบูรณ์] ให้มันจบที่รุ่นเราฯ-อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 21 ตุลาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 323 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 292 ครั้ง

โครงการวิจัย “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาขบวนการเยาวชนไทยร่วมสมัยในแง่ขององค์ประกอบผู้เข้าร่วม มูลเหตุ แรงจูงใจ บริบท และปัจจัยแวดล้อม 2) ศึกษาการจัดรูปองค์กร การสร้างเครือข่าย ข้อเรียกร้อง และกลวิธีการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนไทยร่วมสมัย ทั้งในพื้นที่ทางกายภาพและในสื่อดิจิทัล และ 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นคนภายใต้ขบวนการเยาวชนไทยร่วมสมัย ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เสริมด้วยการวิจัยสื่อทางสังคมและเอกสาร โดยอาศัยแนวคิดเรื่อง “รุ่น”เป็นกรอบแนวคิดเริ่มต้นในการวิจัย ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวกันด้วยประสบการณ์ร่วมและอุดมการณ์ทางการเมือง

การวิจัยพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่เกิดในช่วงเวลาที่ความนิยมในสถาบันกษัตริย์เริ่มถูกท้าทาย และเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา พวกเขามีโอกาสซึมซับรับรู้ความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้ และเป็นเบ้าหลอมให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาในเวลาต่อมา โดยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นปัจจัยผลักดันให้พวกเขาแสดงบทบาทหลัก เนื่องจากกลุ่มการเมืองก่อนหน้าได้สลายตัวลง ขณะเดียวกันความเหลวแหลกของคณะรัฐประหารที่อวดอ้างศีลธรรมความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความผิดหวังจากการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ประกอบกับความไม่พอใจในเหตุการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถาบันกษัตริย์ พวกเขาจึงเริ่มแสดงออกทางการเมืองกันอย่างกว้างขวาง โดยในช่วงแรกเกิดขึ้นในสื่อทางสังคม ทว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรค พวกเขาได้ขยายพื้นที่การแสดงออกไปในโลกกายภาพ เริ่มจากในสถานศึกษา ก่อนจะขยายออกไปสู่ด้านนอกในเวลาต่อมา โดยพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนการจัดรูปองค์กรและกลวิธีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ข้อเรียกร้องหลักสามข้อ คือ การให้นายกรัฐมนตรีลาออก การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นอกจากโลกกายภาพ กลุ่มเยาวชนยังเคลื่อนไหวในโลกเสมือนด้วย นับตั้งแต่การใช้เป็นช่องทางในการแจ้งอัตลักษณ์การเคลื่อนไหว การใช้เป็นกรอบปฏิบัติการเคลื่อนไหว และการใช้เป็นช่องทางการเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับโลกกายภาพ ทั้งในแง่ของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การเป็นพื้นที่ถกเถียงหารือ การสร้างข้อเสนอและตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม การนัดหมาย รวมถึงการระดมทุน

การเคลื่อนไหวของเยาวชนได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากคนวัยสูงกว่าจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่สนับสนุนและร่วมการชุมนุมที่เยาวชนจัด หากแต่ยังจัดกิจกรรมหนุนเสริมเยาวชนด้วย ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็ให้การสนับสนุนเยาวชนเช่นกัน ฉะนั้น แม้รัฐบาลและสถาบันที่เกี่ยวข้องไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของเยาวชน หากแต่โต้กลับด้วยมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งมีกลุ่มเห็นต่างซึ่งเป็นคนช่วงวัยสูงกว่า แต่การที่ขบวนการเยาวชนไทยประกอบด้วยคนหลายช่วงวัยที่ประสบการณ์ร่วมและอุดมการณ์ทางการเมืองได้ร้อยรัดพวกเขาไว้เป็นคน “รุ่น” เดียวกัน ประกอบกับการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ก่อให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ก็มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน “รุ่น” ของพวกเขา