EN/TH
EN/TH
กลุ่มนวัตกรรมทางสังคม>ร-Policy Brief-ทรัพยากรประมง: จัดสรรทรัพยากรกันเองหรือใช้ระบบโควตา-เรวดี จรุงรัตนาพงศ์ และคณะ
ร-Policy Brief-ทรัพยากรประมง: จัดสรรทรัพยากรกันเองหรือใช้ระบบโควตา-เรวดี จรุงรัตนาพงศ์ และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร. เรวดี จรุงรัตนาพงศ์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 15 กันยายน 2022
จำนวนผู้เข้าชม 321 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 18 ครั้ง

การทําประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพที่มีความสําคัญต่อการบรรเทาความยากจน แต่ชาวประมงกลุ่มนี้กําลังได้รับภัยคุกคามทั้งจากผลของการจับปลาเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ชาวประมงส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นชาวประมงพื้นบ้าน โดยเรือประมงพื้นบ้านคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 เรือประมงทั้งหมด ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านนั้นขึ้นอยู่กับทรัพยากรประมงที่จับได้เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรายได้แล้วยังเป็นแหล่งอาหารที่สําคัญ การหาทางแก้ปัญหาของภาครัฐในการควบคุมการจับสัตว์น้ําสําหรับประมงพื้นบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชาวประมงพื้นบ้านพึ่งพาทรัพยากรประมงทะเลทั้งในบริบทของสังคมและเชิงนิเวศ จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทําความเข้าใจกับพฤติกรรมการตอบสนองของชาวประมงพื้นบ้านภายใต้มาตรการต่างๆ ด้วยการใช้วิธีการศึกษาที่เรียกว่า Field experiment ในรูปของการทดลองทรัพยากรร่วม (common-pool resource (CPR) experiment) กับชาวประมงพื้นบ้านจํานวน 540 รายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการศึกษาพบว่า 1) มาตรการโควตาทั้ง 2 มาตรการทั้งกรณีโอกาสสูงที่จะถูกลงโทษและโอกาสต่ําที่จะถูกลงโทษถ้าจับเกินโควตาเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่ามาตรการการจัดสรรทรัพยากรกันเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะชุมชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไม่มีความเข็มแข็งเพียงพอที่จะตกลงกันเองในการจัดสรรทรัพยากรประมง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลจากการประชุมกลุ่มย่อยที่ชาวประมงส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการให้โควตาในระดับชุมชน เพราะมองว่าคงไม่สามารถตกลงกันได้ 2) มาตรการโควตาที่มีโอกาสในการถูกลงโทษที่สูงขึ้นจะช่วยให้มีการแบ่งรายได้ในกลุ่มชาวประมงให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น และ 3) มาตรการโควตาที่มีการตรวจตราผู้กระทําผิดที่มากขึ้น (ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ผู้กระทําผิดจะถูกจับจากการจับเกินโควตาที่มากขึ้นด้วย) จะส่งผลให้โอกาสในการจับปลาจนหมดสต๊อกลดลง ซึ่งหมายความว่า มาตรการโควตาต้องมาพร้อมกับระบบการตรวจตราที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจะรับประกันได้ว่าสต๊อกของปลาจะไม่หมดลงในอนาคต นอกจากนี้การศึกษานี้ยังพบว่า การให้ความรู้กับชาวประมงถึงการเกิดใหม่ของทรัพยากรประมงทะเลว่ามีการเกิดขึ้นอย่างไร โดยการทําความเข้าใจการเกิดใหม่ของทรัพยากรประมงทะเลว่าจะมากน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับสต๊อกของทรัพยากรประมงทะเลในปัจจุบัน จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการใช้ทรัพยากรจนหมดสิ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม จากข้อสรุปของการศึกษานี้ที่สนับสนุนมาตรการโควตาว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่านั้นควรตีความของผลการศึกษานี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นเพียงผลการศึกษาเดียวในประเทศไทย ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะสามารถประยุกต์ใช้กับชาวประมงในประเทศไทยได้ทั้งหมด เพราะความเป็นอยู่ของชาวประมงในแต่ละที่ย่อมมีบริบทเชิงนิเวศและสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรทําการศึกษาซ้ําในพื้นที่อื่นเพื่อยืนยันข้อสรุปดังกล่าว

รายงานสรุปเชิงนโยบายนี้เป็นข้อค้นพบที่ได้จากโครงการ การจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน: การจัดสรรทรัพยากรกันเองหรือการกํากับด้วยกฎระเบียบ? ของ ผศ.ดร. เรวดี จรุงรัตนาพงศ์ และคณะ