EN/TH
EN/TH
โครงการท่องเที่ยวหลังโควิด-19>[เล่ม 1] การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด 19
[เล่ม 1] การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด 19
ผู้วิจัย : ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ   โพสต์ เมื่อ 03 สิงหาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 448 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 119 ครั้ง

โครงการยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยและประเมินผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อศักยภาพเดิมและโอกาสในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทย 2) สร้างฉากทัศน์ความเป็นไปได้ของการท่องเที่ยวไทยระหว่างและภายหลังการระบาดของโควิด-19 และ 3) เสนอแนะแนวนโยบายยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และแผนที่เส้นทางการวิจัยที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อน ฟื้นฟู และปรับตัวของภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยระหว่างและภายหลังการระบาดของโควิด-19

การศึกษานี้ใช้วิธีการศึกษาแบบผสม (Mixed Methods) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีและวิธีวิจัยทางอนาคตศึกษาเพื่อสร้างฉากทัศน์ทางเลือกและเพื่อแสวงหาแนวนโยบายและกลยุทธ์สำหรับการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงระบบในระยะสัน้ ระยะปานกลาง และระยะยาว

การศึกษานี้แบ่งออกเป็น 3 ตอนด้วยกัน ตอนที่หนึ่ง วิเคราะห์สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวไทยจนถึงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 คือในปี พ.ศ. 2562 เพื่อระบุสถานภาพ ศักยภาพของไทยและตำแหน่งแห่งที่ของการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน โดยบทที่ 1 จะเสนอสถานภาพของไทยในบริบทการท่องเที่ยวโลกและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และตามด้วยกรอบความคิดของการศึกษา คำถามในการวิจัยและกรอบการคาดการณ์ในอนาคต บทที่ 2 อธิบายวิวัฒนาการทางด้านอุปสงค์และอุปทานของการท่องเที่ยวโลก ซึ่งพบว่าวิวัฒนาการด้านท่องเที่ยวของประเทศพัฒนาแล้วเป็น supply pull คือแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานส่วนเกินที่ลงทุนไว้ให้นักท่องเที่ยว ส่วนของไทยเป็น Demand push คือ ความต้องการของนักท่องเที่ยวตามหน้าไปก่อน ส่วนโครงการพื้นฐานตามมาทีหลัง ตามด้วยการศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวไทยในระดับจังหวัด พบว่า จังหวัดท่องเที่ยวที่ใช้ทรัพยากรเต็มที่อย่างเต็มศักยภาพมีถึง 15 จังหวัด บทที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ตลาดของการท่องเที่ยวไทยทั้งในระดับของภูมิภาคคืออาเซียนและสำหรับคู่ค้าใหญ่ เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย ซึ่งพบว่าไทยควรให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนมากขึ้น และตลาดรายได้สูงในฮ่องกงและสิงคโปร์ บทที่ 4 เป็นการศึกษาภาพลักษณ์ของไทยในตลาดใหญ่คือตลาดจีนโดยใช้วิธีของการทำเหมืองข้อมูลจากแพลตฟอร์มสารสนเทศออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวของจีน และการทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีน เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19

ตอนที่สอง เป็นการตอบคำถามว่า การท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 ควรจะมุ่งไปสู่เป้าหมายใด โดยบทที่ 5 เป็นการนำเสนอประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวและข้อกังวลและจุด (Pain points) ของนักท่องเที่ยวซึ่งแตกต่างจากของผู้ให้บริการ บทที่ 6 นำเสนอการทบทวนประสบการณ์ของประเทศต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา และการคาดการณ์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโดยองค์กรวิจัยต่างๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจท่องเที่ยวโลกจะฟื้นตัวเต็มที่ในปี พ.ศ. 2567 บทที่ 7 เป็นการเตรียมการเพื่อทำการคาดการณ์อนาคตด้วยการทบทวนการศึกษาเชิงระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งนิเวศน์ท่องเที่ยวเชิงระบบบทที่ 8 เป็นการเสนอการกวาดสัญญาณ แนวโน้มของการท่องเที่ยวโลกเพื่อสร้างฉากทัศน์และการคาดการณ์อนาคตฐานหรืออนาคตภายใต้สถานการณ์โควิด-19 บทที่ 9 เสนอฉากทัศน์อนาคตการท่องเที่ยวไทย คือภาพอนาคตอันเป็นไปได้ในระยะยาว บทที่ 10 เสนอยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วนและระยะสั้น ซึ่งมี 2 ยุทธศาสตร์ย่อยคือ ยุทธศาสตร์การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างระมัดระวังให้เร็วที่สุด และยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว ส่วนยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวมี 2 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทย เป็นกลยุทธ์ที่ปรับโครงสร้างยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยให้สู่ระดับสากลให้สมกับเป็นประเทศแนวหน้าของโลกด้านการท่องเที่ยวมี 6 แนวทาง และ ยุทธ์ศาสตร์ที่ 2 กระจายต้นทุนและผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้เป็นธรรมมากขึ้น เป็นกลยุทธ์ที่ขยายรากฐานทางเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวมีความหลากหลายด้านคุณค่ามีเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมี 4 แนวทาง

สำหรับตอนที่สาม เป็นการเสนอกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงระบบ โดยเริ่มจากบทที่ 11 ที่ทบทวนและสังเคราะห์วรรณกรรมวิจัยงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยที่ผ่านมาระหว่างปี พ.ศ. 2555-2563 โดยใช้วิธีทำเหมืองข้อมูลและบรรณามิติซึ่งระบุจุดอ่อนจุดแข็งของงานวิจัย ต่อด้วยบทที่  12 ซึ่งเป็นบทสุดท้ายเป็นการออกแบบแผนงานวิจัยท่องเที่ยวเชิงระบบที่ล้อตามยุทธศาสตร์ชาติในบทที่ 10 สำหรับข้อเสนอแนวทางการวิจัยและพัฒนาได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ให้มีงานวิจัยขนาดใหญ่และตอบโจทย์สำคัญมากขึ้น และมีการบูรณาการข้ามศาสตร์