งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาอนาคตของการซื้อของคนเมืองในเมืองหลักภูมิภาค ซึ่งมีกรณีศึกษาได้แก่ เมืองเชียงใหม่ เมืองขอนแก่น และเมืองหาดใหญ่-สงขลา โดยศึกษาพฤติกรรมการซื้อของคนเมือง รวมถึงสถานการณ์แหล่งการซื้อของในเมืองหลักภูมิภาคในปัจจุบันไปพร้อม ๆ กับการใช้เครื่องมือการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การสร้างภาพอนาคตของเมืองหลักภูมิภาคในมิติของการซื้อของ เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป
จากการศึกษาพฤติกรรมการซื้อของของคนเมืองในปัจจุบันด้วยการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม พบว่า ตลาดสดและร้านค้าทั่วไปตามแหล่งชุมชนยังคงเป็นแหล่งซื้อของที่สำคัญของครัวเรือนคนเมือง มีการใช้บริการสัปดาห์ละหลายครั้ง ในขณะซูเปอร์เซ็นเตอร์เป็นตัวแทนของการค้าสมัยใหม่ที่เป็นที่นิยมโดยมีการใช้งานสัปดาห์ละครั้งเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กลางเมืองมีแนวโน้มที่จะนิยมซื้อของในแหล่งซื้อของที่เป็นการค้าสมัยใหม่ถี่กว่าผู้อยู่อาศัยบริเวณรอบนอกแต่ก็ไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก ส่วนการซื้อของออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่ใกล้เคียงกันทุกเมืองโดยไม่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของที่อยู่อาศัย โดย Platform Shopping เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในส่วนการซื้อของของปัจเจกบุคคล พบว่าเศรษฐสถานะ และช่วงวัยมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของในหลายมิติ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทางเลือกของการซื้อของ
จากการวิเคราะห์สถานการณ์แหล่งการซื้อของของเมืองหลักภูมิภาคในปัจจุบันพบว่า แต่ละเมืองมีลักษณะการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีย่านชุมชนเมืองเก่า ย่านการค้ากลางใจเมือง ย่านชุมชนหอพักโดยรอบมหาวิทยาลัย และย่านชุมชนใหม่ชานเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญ การกระจายตัวของแหล่งการซื้อของมีลักษณะที่หลากหลายขึ้นอยู่กับรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของแต่ละเมือง โดยเมืองขอนแก่นมีความกระชับของการตั้งถิ่นฐาน และพบการกระจุกตัวของแหล่งซื้อของมากกว่าอีกสองเมือง เมื่อรวบรวมขนาดพื้นที่ของแหล่งซื้อของที่สำคัญโดยแบ่งเป็นการค้าสมัยใหม่และการค้าดั้งเดิม พบว่าแต่ละเมืองมีพื้นที่ของแหล่งซื้อของที่เป็นการค้าสมัยใหม่มากกว่าการค้าดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก ซึ่งคำนวณได้ประมาณ 6-16 เท่าตัว
จากการใช้เครื่องมือการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ ได้พัฒนาภาพอนาคตฐานจากแนวโน้มปัจจุบัน และได้นำปัจจัยการขับเคลื่อนสำคัญ 2 ปัจจัย ที่มีความไม่แน่นอนสูงและจะสร้างผลกระทบสูง คือ รูปแบบการบริโภค และ ลักษณะการเคลื่อนย้ายไปสู่แหล่งงานของคนรุ่นใหม่ มาใช้สร้างฉากทัศน์ทั้งหมด 4 ฉาก ได้แก่ 1) เมืองน้องกรุงเทพ 2) เมืองอาณานิคมทุนใหญ่ 3) เมืองตลาดนัดทุกหนแห่ง และ 4) เมืองฮอทของคนฮิป จากการประเมินฉากทัศน์ในมิติของความเสมอภาค ความยั่งยืน และประสิทธิภาพ รวมถึงจากการประชุมกลุ่มย่อย พบว่าภาพอนาคตพึงประสงค์ที่สุดจากทั้ง 4 ฉาก คือ ฉากทัศน์ที่ 4 เมืองฮอทของคนฮิป ซึ่งมีสินค้าและการบริการในระบบที่หลากหลาย มีทางเลือกให้ผู้บริโภคทุกระดับ ย่านกลางเมืองได้รับการฟื้นฟู มีการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในพื้นที่ มีการจ้างงานเกิดขึ้นจำนวนมาก มีโอกาสผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาด และสามารถต่อยอดสู่การท่องเที่ยวได้
จากภาพอนาคตฐานและอนาคตพึงประสงค์ ผู้วิจัยได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเป็น 1) ยุทธศาสตร์เพื่อรับมือการซื้อของในอนาคตฐาน 4 ข้อ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ และ 2) ยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการสร้างอนาคตพึงประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง และยุทธศาสตร์ด้านการสร้างแหล่งงาน