EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ว-คนเมือง 4.0: อนาคตการทํางานในเมืองหลักของประเทศไทย-ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และอรรถพันธ์ สารวงศ์
ว-คนเมือง 4.0: อนาคตการทํางานในเมืองหลักของประเทศไทย-ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และอรรถพันธ์ สารวงศ์
ผู้วิจัย : อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และ อรรถพันธ์ สารวงศ์   โพสต์ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 203 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 38 ครั้ง

การเชื่อมต่อทั้งในรูปแบบกายภาพและออนไลน์ทําให้การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยได้กระจายออกไปในวงกว้างขึ้น และกระบวนการเมือง (urbanization) ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต ่ในมหานครกรุงเทพ แต่ยังรวมถึงพื้นที่เมืองใหญ่ในระดับภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน กลายเป็นแรงผลักดันให้เมืองหลักต่าง ๆ มีโอกาสในการเติบโตในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยต่อเนื่องมาจากโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตการทํางาน (มหานครกรุงเทพ) ภายใต้กรอบงานวิจัย “คนเมือง 4.0” โดยงานวิจัยต่อเนื่องชิ้นนี้มีคําถามวิจัย คือ สถานการณ์การทํางานในเมืองหลักของประเทศไทยในปัจจุบันและที่อาจจะปรากฏในอนาคตเป็นอย่างไร โดยมีกรณีศึกษาคือ เมืองเชียงใหม่ เมืองขอนแก่น และเมืองหาดใหญ่-สงขลา

จากการกวาดสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและการว่าจ้างงานในแต่ละเมืองพบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของเมืองหลักจากปัจจุบันสู่อนาคตในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ การจ้างงาน การทํางาน และแรงงาน ทั้งสิ้น 9ด้าน ได้แก่ 1) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเมือง 2) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงฐานเศรษฐกิจของเมืองและรายได้ของคนเมือง 3) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงลักษณะแรงงานในเมือง 4) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและช่องทางการรับงาน 5) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในการทํางาน 6) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงการย้ายถิ่นฐานและการทํางาน 7) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ความเสี่ยงและการดูแลคนทํางานในเมือง 8) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันกับเมืองทั่วโลก และ 9) สัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายการดําเนินงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

แนวโน้มสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างแน่นอนใช้สร้างเป็นภาพอนาคตฐาน มี 5 ประเด็นสําคัญ คือ1) คนในจําเป็นต้องออก คนนอกไม่จําเป็นต้องเข้า 2) เทคโนโลยีรุดหน้าแต่คุณค่าเดิมไม่รั้งท้าย 3) ธุรกิจท้องถิ่นดิ้นรนกับการแข่งขันระดับโลก 4) ความเปราะบางท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโต และ 5) ธรรมชาติดึงดูดคนที่ล้วนสร้างมลพิษ นอกจากภาพอนาคตฐานแล้ว งานวิจัยนี้ยังใช้ปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและจะสร้างผลกระทบสูงคือแกนที่ 1 โลกาภิวัตน์ของแรงงานบริการเมื่อเทคโนโลยีก้าวข้ามพรมแดน และแกนที่ 2 อิสระในการบริหารและการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น มาไขว้กันเสนอเป็นฉากทัศน์ภาพอนาคตทางเลือกทั้งหมด 4 ฉาก คือ 1) ผึ้งงานต่อชีวิตพืชพรรณ (hyper-connectivity) 2) หม่อนไหมทักษะสูง (hyper-specialization) 3) หิ่งห้อยคอยต้อนรับ (hyper-attraction และ 4) มดงานหล่อเลี้ยงเมือง (hyper-localization) โดยแต่ละเมืองมีอนาคตพึงประสงค์ที่แตกต่างกัน

จากภาพอนาคตฐานและอนาคตพึงประสงค์ที่หลากหลายนั้น รายงานนี้นําเสนอข้อเสนอแนะ แผนเชิงยุทธศาสตร์ในระดับประเทศ ให้มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ในการกระจายอํานาจและเปิดโอกาสให้เกิดความยืดหยุ่นสําหรับเมืองหลักต่างๆ แต่ะสําหรับแผนเชิงยุทธศาสตร์ระดับเมือง ให้มุ่งเน้นยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้าหมายเดียวโดยอาจมีการกระจายความเสี่ยงไปยังฉากทัศน์อื่น ๆ บ้างเล็กน้อย เพื่อให้แต่ละเมืองมีความสามารถและศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนอย่างเหมาะสมตามบริบทส่งผลให้การพัฒนามีศักยภาพและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น