EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ป-คนเมือง 4.0: อนาคตการเดินทางของคนเมืองในเมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทย-เปี่ยมสุข สนิท และคณะ
ป-คนเมือง 4.0: อนาคตการเดินทางของคนเมืองในเมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทย-เปี่ยมสุข สนิท และคณะ
ผู้วิจัย : อ.ดร.เปี่ยมสุข สนิท และคณะ   โพสต์ เมื่อ 19 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 249 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 22 ครั้ง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการขนส่ง (transport disruptive technology) ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการเดินทางของคนเมืองในยุคดิจิทัล การศึกษาอนาคตการเดินทางของคนเมืองจึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งสําหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การเดินทางในปัจจุบันและคาดการณ์อนาคตการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาค (regional city) ของประเทศไทย โดยใช้กระบวนการและวิธีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic foresight) มุ่งเน้นศึกษาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นขอบเขตการวิจัย (scoping) และคัดเลือกเมืองหลักภูมิภาคจํานวน 3 เมือง ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่-สงขลา เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเมืองเหล่านี้ยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและอยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ผลการสํารวจข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางของครัวเรือนในเมืองหลักทั้งสามเมือง จํานวน 2,468 ครัวเรือน พบว่า ในภาพรวมเมืองหลักภูมิภาคทั้งสามเมืองพึ่งพารถส่วนตัวในการเดินทางสูงมาก รูปแบบการเดินทางที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ สะท้อนภาพการเป็นเมืองจักรยานยนต์อย่างชัดเจน รองลงมาคือการใช้รถยนต์ มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการเดินทางทั้งหมด ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะมีบทบาทน้อยมากในการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาค ทั้งนี้ พฤติกรรมการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาคมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มบุคลักษณ์(persona) และในแต่ละย่าน ได้แก่ พื้นที่ศูนย์กลางเมือง ชานเมือง พื้นกึ่งเมือง (peri-urban) และพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาค พบว่า ความสะดวกและเวลาในการเดินทางคือปัจจัยสําคัญในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทางและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ ค่าเดินทาง เวลาในการเดินทาง ลักษณะย่านและบุคลักษณ์อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลกระทบของบริการแอปพลิเคชันเรียกรถและการแพร่ระบาดของ COVID 19 พบว่า พฤติกรรมการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาคมีเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากการกวาดสัญญาณด้วยกรอบแนวคิด STEEPV เมื่อนําปัจจัยขับเคลื่อนที่มีผลกระทบสูงและความไม่แน่นอนต่ํามาประมวล สามารถวิเคราะห์เป็นภาพอนาคตฐาน (Baseline future) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการคาดการณ์อนาคตของการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาค ฉายภาพอนาคตฐานได้ว่า แนวโน้มการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาคในอนาคตสอดคล้องกับมหานครกรุงเทพ การเดินทางด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดในอนาคต โดยแพลตฟอร์มบริการขนส่งจะเข้ามามีบทบาทสําคัญในการเดินทางของคนในเมืองหลักในอนาคต แต่จะมีความแตกต่างตรงที่อาจจะไม่มีระบบขนส่งมวลชนทางรางเป็นแกนหลักการให้บริการขนส่งตามแนวคิด Mobility-as-a-Service หรือ MaaS เช่นเดียวกับเมืองหลวง การเดินทางในเมืองหลักภูมิภาคจะมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยผลักดันให้รถสองแถวเป็นระบบขนส่งรอง มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการขนส่งโดยภาคเอกชนตามแนวคิดการขนส่งฐานบริการ (private MaaS) โดยเน้นบริการขนส่งด้วยรถส่วนบุคคลร่วมโดยสาร รวมถึงยานยนต์สมัยใหม่ตามแนวคิด CASE ก็จะเป็นส่วนสําคัญในการยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะบนแพลตฟอร์ม และเมื่อนําปัจจัยการขับเคลื่อนสําคัญที่มีผลกระทบสูงและความไม่แน่นอนสูงมาวิเคราะห์เป็นภาพอนาคตทางเลือก (Alternative futures) เพื่อคัดเลือกภาพอนาคตที่พึงประสงค์ (Preferable future) ของการเดินทางในเมือง ฉายภาพอนาคตที่พึงประสงค์ได้ว่า จะมีกิจการขนส่งฐานบริการของเมือง (City MaaS) ที่ทําให้คนเมืองเดินทางได้อย่างสะดวก มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายเนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะมีราคาถูก เน้นการเดินเท้า จักรยานและ micro mobility จึงเป็นอนาคตการเดินทางที่เหมาะสมสําหรับผู้คนในเมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทย

ผลการศึกษานําไปสู่การจัดทําข้อเสนอแนะนโยบายสาธารณะที่สําคัญในการสนับสนุนการเดินทางของคนเมืองให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม รวมถึงนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางในอนาคตที่เหมาะสม จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรับมืออนาคตฐาน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์รับมือนวตกรรมขนส่ง ประกอบด้วยนโยบายพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสําหรับเมืองขนาดกลาง นโยบายกํากับดูแลธุรกิจรถส่วนบุคคลร่วมโดยสาร (Ride Hailing Service: RHS) นโยบายพัฒนาแพลตฟอร์มบริการขนส่งตามแนวคิด MaaS และนโยบายเตรียมพร้อมรองรับยานยนต์สมัยใหม่ตามแนวคิด CASE และ 2) ยุทธศาสตร์ความเป็นธรรมบนแพลตฟอร์ม (collective bargaining) ประกอบด้วยนโยบายสร้างแพลตฟอร์มแบบสหกรณ์ (collective/cooperative platforms) และนโยบายออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด (antitrust law) ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างอนาคตพึงประสงค์ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการขนส่งฐานบริการของเมือง ประกอบด้วยนโยบายจัดตั้งหน่วยงานกํากับดูแลระบบขนส่งสาธารณะของเมืองหลักในภูมิภาค นโยบายบูรณาการระบบขนส่งหลักและระบบขนส่งรอง นโยบายเพิ่มทางเลือกในการเดินทางด้วยบริการร่วมการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ นโยบายสนับสนุนสวัสดิการค่าเดินทางแบบประตูสู่ประตู (door-to-door) สําหรับผู้มีรายได้น้อย นโยบายส่งเสริมการเดินทางเพื่อส่วนรวม (collective mobility) และนโยบายปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเดินทางตามแนวคิด nudge และ 2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไร้เครื่องยนต์เพื่อลดการเดินทางด้วยรถส่วนตัวและเพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ นโยบายออกแบบจุดเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวกและนโยบายออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้เมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทยสามารถก้าวสู่สังคมที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง