EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ภ-คนเมือง 4.0: อนาคตการอยู่อาศัยของคนเมืองหลักภูมิภาคในประเทศไทย-ภัณฑิรา จูละยานนท์ และคณะ
ภ-คนเมือง 4.0: อนาคตการอยู่อาศัยของคนเมืองหลักภูมิภาคในประเทศไทย-ภัณฑิรา จูละยานนท์ และคณะ
ผู้วิจัย : อ.ภัณฑิรา จูละยานนท์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 174 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 20 ครั้ง

เมืองหลักภูมิภาค (regional cities) ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดกำลังตั้งอยู่บนทางแยกของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกหลายประการ อาทิเช่น การเข้ามามีบทบาทของดิจิทัลเทคโนโลยี การกลายเป็นสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อทั้งจำนวนประชากรและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองหลัก ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาเชิงพื้นที่ในรูปแบบที่เหมาะสมมารองรับ หนึ่งในการพัฒนาดังกล่าวคือการพัฒนาที่อยู่อาศัยอันเป็นพื้นที่ตั้งต้นของการใช้ชีวิตของคนเมือง โดยในอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองหลักหลายแห่งยังขาดแผนยุทธศาสตร์ที่พิจารณาปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการกำหนดทิศทางของเมืองในระยะยาว 

งานวิจัยนี้จึงเห็นความจำเป็นในการศึกษาภาพอนาคตการอยู่อาศัยของคนเมืองในเมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมีเมืองเชียงใหม่ เมืองขอนแก่น เมืองหาดใหญ่-สงขลา เป็นกรณีศึกษา เป้าหมายหลักของงานวิจัยนี้คือการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ในการใช้ชีวิตที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลายได้ในระยะยาวและมุ่งเน้นศึกษาการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบผลิตซ้ำ (mass-housing development) โดยใช้กระบวนการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์และอนาคตศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการ 

ผลการศึกษานำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาพอนาคตฐาน (baseline future) 7 ประการที่เกี่ยวข้องกับทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการพัฒนาสาธารณูปการและพื้นที่สาธารณะที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมถึงข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองหลักซึ่งก็คือ “ยุทธศาสตร์สร้างกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเชิงปริมาณ เน้นใส่ใจคุณภาพทั้งในและนอกบ้าน ให้แพลตฟอร์มช่วยเติมเต็มบริการพร้อมเสริมสร้างโครงข่ายสังคม”