EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>ต-การศึกษาความสำคัญของการสื่อสารต่อการตัดสินใจทุจริต : การทดลองทางเศรษฐศาสตร์-ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และคณะ
ต-การศึกษาความสำคัญของการสื่อสารต่อการตัดสินใจทุจริต : การทดลองทางเศรษฐศาสตร์-ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร. ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และคณะ   โพสต์ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 241 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 66 ครั้ง

คอร์รัปชันส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การพัฒนาประเทศเกิดความล่าช้า นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการกระจายรายได้ของครัวเรือนทำให้มีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันมีหลายรูปแบบและมีความซับซ้อน ดังนั้นมาตรการใดมาตรการหนึ่งอาจไม่สามารถขจัดพฤติกรรมทุจริตได้หมดสิ้น แล้ววิธีการหรือปัจจัยอะไรที่ช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชัน?

งานวิจัยนี้สนใจศึกษาถึงการลดปัญหาการคอร์รัปชันผ่านการโน้มน้าวรายบุคคลโดยการสื่อสารด้านศีลธรรม (moral persuasion) โดยการผลักดันข้อมูลซ้ำ ๆ เพื่อให้แต่ละบุคคลเข้าใจถึงความหมายข้อมูลอย่างแท้จริง โดยแบ่งข้อความออกเป็น 2 ชุด 1) ข้อความที่สื่อความหมายภายนอก (EXTRINSIC message) ตามหลักการด้านการลงโทษ และ 2) ข้อความที่สื่อความหมายภายใน (INTRINSIC message) ตามหลักการด้านศีลธรรม ซึ่งจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการคอร์รัปชันหลังได้รับข้อความแต่ละประเภท และวัดประสิทธิผลระยะสั้น และระยะยาวของข้อความ รวมถึงปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อพฤติกรรม

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการทุจริตโดยใช้รูปแบบเกมโยนเหรียญกับกลุ่มข้าราชการ และนักศึกษา โดยการทดลองผู้เข้าร่วมจะโยนเหรียญทั้งหมด 20 ครั้ง และทำการรายงานผลด้วยตนเองว่าได้ “หัว” กี่ครั้ง ทุกครั้งที่ได้หัว ผู้เข้าร่วมจะได้รับค่าตอบแทนการทดลอง โดยไม่ได้มีระบบการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่ผู้เข้าร่วมจะทำการโกงผลการโยนเหรียญ การโยนเหรียญมีทั้งหมด 4 รอบ รอบละ 20 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลาการทดลองประมาณ 1 เดือน ในระหว่างรอบจะมีสื่อวิดีทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมดู ผู้เข้าร่วม แต่ละคนจะได้รับสื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่ได้รับสื่อที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน (control) 2) กลุ่มที่ได้รับสื่อความหมายภายนอก (Extrinsic) 3) กลุ่มที่ได้รับสื่อความหมายภายใน (Intrinsic)

ผลการทดลอง พบว่า ทั้งข้าราชการและนักศึกษามีแนวโน้มที่จะทุจริตในกิจกรรมนี้ กรณีกลุ่มที่ไม่ได้รับสื่อใด ๆ เลย เมื่อจำนวนรอบเพิ่มสูงขึ้น จำนวนหัวที่รายงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อยิ่งมีโอกาสในการทุจริตมากเท่าไร หรือการที่มีประสบการณ์การทุจริตที่มากขึ้น พฤติกรรมการทุจริตก็จะเพิ่มขึ้น โดยนักศึกษามีแนวโน้มที่จะทุจริตมากกว่าข้าราชการ

ทั้งการสื่อความหมายภายนอกและสื่อความหมายภายในสามารถลดพฤติกรรมการโกงในระยะสั้นได้ดีและสามารถลดพฤติกรรมการทุจริตในระยะกลางได้บ้าง ทั้งนี้มีเพียงสื่อความหมายภายในเท่านั้นที่สามารถลดพฤติกรรมการทุจริตในระยะยาวได้ แต่มีผลเฉพาะข้าราชการเท่านั้น สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ลักษณะการทำงาน (บริการประชาชนโดยตรง) ระยะเวลาที่รับข้าราชการ ระดับการยอมรับความเสี่ยง ประสบการณ์การได้รับปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากสังคม และทัศนคติด้านอารมณ์/ความรู้สึกต่อคอร์รัปชัน มีผลต่อพฤติกรรมการทุจริตของข้าราชการ สำหรับนักศึกษาจะเป็นปัจจัยประสบการณ์การได้รับปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากสังคม และเกรดเฉลี่ย

คำสำคัญ : คอร์รัปชัน, สื่อความหมายภายใน, สื่อความหมายภายนอก, เกมการโยนเหรียญ