EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>อ-รูปแบบการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยกลุ่มเปราะบาง-อนัสปรีย์ ไชยวรรณ และสุพรรณิกา ลือชารัศมี
อ-รูปแบบการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยกลุ่มเปราะบาง-อนัสปรีย์ ไชยวรรณ และสุพรรณิกา ลือชารัศมี
ผู้วิจัย : ผศ.ดร. อนัสปรีย์ ไชยวรรณ และ ผศ.ดร.สุพรรณิกา ลือชารัศมี   โพสต์ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 247 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 11 ครั้ง

การเข้าใจถึงรูปแบบการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในแต่ละกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง มีความสำคัญทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ถึงลักษณะการบริโภคของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง จากสถานการณ์การบริโภคและหนี้ภาคครัวเรือนปัจจุบันที่การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และหนึ่งในสามของคนไทยมีภาระหนี้สูง ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีความเปราะบางยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

การศึกษานี้ได้ใช้ข้อมูลภาพตัดขวางจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554 2558 และ 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการศึกษาครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 6 กลุ่ม ได้แก่ ครัวเรือนที่ไม่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ ครัวเรือนที่มีผู้พิการ ครัวเรือนมีผู้ป่วยเรื้อรัง ครัวเรือนแหว่งกลาง และครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่แม่เป็นหัวหน้าครอบครัว 

ที่มีผลต่อการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในหมวดค่าใช้จ่าย 3 หมวด คือ หมวดค่าใช้จ่ายจำเป็น หมวดเพิ่มคุณภาพชีวิต และหมวดอบายมุข รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อสัดส่วนค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนรวม ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะครัวเรือนแหว่งกลางมีการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2562 จากปี 2558 ในค่าอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 การสื่อสารและอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ค่ารักษาพยาบาลและยารักษาโรคเพิ่มขึ้นร้อยละ 219.1 การศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 และอบายมุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ครัวเรือนสูงที่สุดในครัวเรือนเปราะบางทั้งหมดถึงร้อยละ 89.0 ในปี 2562 

ผลการศึกษาจากแบบจำลอง Adaptive Lasso เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายครัวเรือนต่อหัวในหมวดต่าง ๆ ของครัวเรือนเปราะบางแต่ละกลุ่ม พบว่า ครัวเรือนที่เปราะบางประเภทต่าง ๆ มีภาระทางการเงินที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณารายจ่ายหมวดค่าใช้จ่ายจำเป็นและหมวดเพิ่มคุณภาพชีวิต ในขณะที่ครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและยารักษาโรคสูงที่สุด ครัวเรือนที่ไม่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมีค่าเช่าบ้านสูงสุดและครัวเรือนแหว่งกลาง มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงที่สุด ด้วยรายจ่ายเหล่านี้ ครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงอายุจึงเหลือค่าใช้จ่ายด้านอาหารและโทรคมนาคมต่ำกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ กลุ่มครัวเรือนเปราะบางอย่างน้อย 2 มิติ ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและยารักษาโรคและค่าเช่าบ้านที่ค่อนข้างสูง จึงมีค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ เมื่อพิจารณารายจ่ายหมวดอบายมุข พบว่าครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ ครัวเรือนแหว่งกลาง และครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่แม่เป็นหัวหน้าครอบครัว มีรายจ่ายด้านแอลกอฮอล์และยาสูบต่ำ อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่ไม่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน มีการใช้จ่ายในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ด้อยโอกาสอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ไม่มีครัวเรือนเปราะบางประเภทใดที่มีค่าใช้จ่ายด้านการพนันสูงกว่ากลุ่มไม่เปราะบาง 

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบในการจัดสรรค่าใช้จ่ายของแต่ละกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางให้กับรัฐบาลในการออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ยกตัวอย่างเช่น ครัวเรือนมีเฉพาะผู้สูงอายุ ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยเรื้อรัง และครัวเรือนเปราะบางอย่างน้อย 2 มิติ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและยารักษาโรคสูง และสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศ ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นถึงมิติที่ไม่ครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ครัวเรือนที่มีผู้พิการ ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยเรื้อรัง และครัวเรือนแหว่งกลางมีทั้งรายได้และค่อนข้างต่ำ และมีสัดส่วนครัวเรือนที่อยู่ในภาวะความยากจนสูงกว่าครัวเรือนเปราะบางกลุ่มอื่น ซึ่งผลการศึกษานี้อาจจะสะท้อนถึงความไม่เพียงพอของเบี้ยยังชีพผู้พิการสำหรับครัวเรือนที่มีผู้พิการและครัวเรือนที่มีผู้ป่วยเรื้อรัง หรือความไม่เพียงพอของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรในกรณีของครัวเรือนแหว่งกลาง