รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่มีต่อธุรกิจชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน โดยประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์การท่องเที่ยวในการศึกษาทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และประยุกต์ใช้วิธีการศึกษาที่สำคัญ 3 วิธี ได้แก่ การประเมินต้นทุน-ผลตอบแทนตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์ 2) การประเมินราคาเงาตามแนวคิด life satisfaction approach (LSA) และ3) การประยุกต์ใช้สมการโครงสร้าง (structural equation model: SEM) ตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแบบจำลอง
ผลการศึกษาพบว่า การจัดการอย่างรับผิดชอบช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการโรงแรมประเภทบูติกโฮเทล โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานไฟฟ้า การใช้น้ำ และการลดการใช้พลาสติกซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 3.24-4.57, 1.08-1.37 และ 1.28-1.96 บาท/ผู้เข้าพัก 1 คน ตามลำดับ ขณะที่การจัดการขยะจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.26-0.34 บาท/ผู้เข้าพัก 1 คนเช่นเดียวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ เช่น การอนุรักษ์ความเป็นบ้านไม้เก่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามการดำเนินการอย่างรับผิดชอบของโรงแรมช่วยสร้างผลประโยชน์เชิงคุณค่าในระยะยาวในเชิงของภาพลักษณ์ของการเป็นโรงแรมสีเขียวหรือโรงแรมที่มีความผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้ในอนาคต
สำหรับชุมชนได้รับประโยชน์หลักจากการเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจลงสู่ชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น โอกาสทางธุรกิจ การจ้างงาน เป็นต้น ขณะที่คนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมและรับรู้ถึงการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เป็นบุคคลที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น (มีราคาเงา) และยินดีสนับสนุนการจัดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบขณะที่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณในการจัดการขยะที่เกิดจากท่องเที่ยว (0.60 กิโลกรัม/คน หรือ 0.47 บาท/คน) รวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนผู้เยี่ยมเยือนได้ความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากการร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยว (อย่างรับผิดชอบ) โดยผู้เยี่ยมเยือนยินดีใช้จ่ายเพิ่มขึ้นให้กับความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจากการร่วมกิจกรรมดังกล่าว (มีราคาเงา) และความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นยังมีผลทำให้ผู้เยี่ยมเยือนมีพฤติกรรมที่รับผิดชอบในขณะที่ท่องเที่ยว และมีผลต่อ การเลือกจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว
การศึกษานี้ได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการเพื่อการขยายแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยภาครัฐควรมีนโยบายที่สร้างแรงจูงใจทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในเรื่องผลในระยะยาวที่เกิดจากการจัดการตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการจัดทำและเผยแพร่ชุดข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลและการดำเนินงานของจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่เป็นไปตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้สามารถสื่อสารได้โดยตรงกับนักท่องเที่ยวและ/คนที่สนใจ