EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ศ-การพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง-ศิริพร กิรติการกุล
ศ-การพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง-ศิริพร กิรติการกุล
ผู้วิจัย : รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล และคณะ   โพสต์ เมื่อ 06 มิถุนายน 2022
จำนวนผู้เข้าชม 304 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 22 ครั้ง

โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาต้นแบบธุรกิจชุมชนจากพืชและสัตว์เศรษฐกิจที่อยู่ร่วมกับป่าและมีการบริหารจัดการด้วยโซ่อุปทานการผลิต 2) เพื่อพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมยุวชนเกษตรให้เป็นโซ่ข้อในธุรกิจชุมชนบนพื้นที่สูง 3) เพื่อนำเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ สังคมและภูมินิเวศพื้นที่สูง ทำการรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม ระบบเกษตรผสมผสานของชุมชนใน 7 อำเภอ ประกอบด้วย สองแคว แม่จริม ท่าวังผา ปัว ภูเพียง สันติสุข และนาหมื่น จังหวัดน่านที่มีความพร้อมในการลงทุน และรวมกลุ่มเกษตรกรพัฒนาเป็นธุรกิจชุมชน โดยชุมชนได้คัดเลือกกาแฟ โกโก้ และโคเนื้อ เป็นตัวแทนของพืชและสัตว์เศรษฐกิจเป็นตัวแทนของสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอาชีพ ผลการศึกษา พบว่า

ต้นแบบธุรกิจชุมชนกาแฟมีการรวมกลุ่มเกษตรกรบ้านน้ำพัน 41 ครัวเรือน จัดการธุรกิจด้วยโซ่อุปทาน 5 ห่วงโซ่ สร้างแบรนด์ “กาแฟบ้านป่า”จากอัตลักษณ์ของพื้นที่ปลูก ระบบปลูกร่วมกับป่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างจุดขายด้วยคุณภาพที่แตกต่าง ชุมชนได้รับการจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าและอัตราผลตอบแทนการลงทุน โดยโซ่ที่1 การผลิตกาแฟสุก ผลผลิตเพิ่มจาก 1,305 ตัน/ปี เป็น 1,500 ตัน/ปี มูลค่าเพิ่มเป็น 26,100,000 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 55.45 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.85) โซ่ที่ 2 การรวบรวมผลสุก มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 25,375,000 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.16 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.31) โซ่ที่ 3 การแปรรูปกาแฟกะลา มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,903,050 บาท/ปี อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.23 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00) โซ่ที่ 4 การแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วมีมูลค่าธุรกิจ 232,928 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 59.16 และโซ่ที่ 5การตลาดมีมูลค่าธุรกิจ 232,928 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 24.10 ในปีการผลิต 2564 ธุรกิจชุมชนกาแฟมีมูลค่าเศรษฐกิจในพื้น 27,784,660 บาท/ปี เพิ่มขึ้น 3,987,742 บาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.76 )

การพัฒนาธุรกิจชุมชนโกโก้มีรวมกลุ่มเกษตรกรจาก 5 ชุมชน จำนวน 24 ราย บริหารจัดการธุรกิจด้วยโซ่อุปทาน 5 ห่วงโซ่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโซ่อุปทานการผลิต โดยโซ่ที่ 1 การผลิตโกโก้ของชุมชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 905,760 บาท/ปี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ร้อยละ 18.16 โซ่ที่ 2 การรวบรวมผลโกโก้ ดำเนินการโดยสหกรณ์การเกษตรมูลค่า 1,047,840 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 8.86 โซ่ที่ 3 การแปรรูปเมล็ดโกโก้แห้งมูลค่า 106,560 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 8.94 โซ่ที่ 4 การแปรรูปเมล็ดโกโก้แห้งเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้มูลค่า 38,991 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 18.18 และโซ่ที่ 5 การตลาดมูลค่า 61,846 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 31.83 การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจชุมชนตลอดโซ่อุปทานการผลิตโกโก้มูลค่าเศรษฐกิจในพื้น 213,732 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.49 มูลค่าเศรษฐกิจเดิม

ต้นแบบชุมชนโคเนื้อ รวมกลุ่มเกษตรกร 103 รายจาก 6 ชุมชน บริหารจัดการธุรกิจด้วย 3 ห่วงโซ่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโซ่การผลิตชุมชนมีขนาดฝูงโค จำนวน 1,200 ตัว แยกเป็นโคแม่พันธุ์ 572 แม่เพื่อผลิตลูกโคและโคเนื้อขุน การจัดการองค์ความรู้ด้านการจัดการพันธ์ อาหาร และสุขศาสตร์สัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจาก ส่งผลให้จำนวนโคมีการจัดการร่วมกันเพิ่มขึ้นจาก 286 ตัว เป็น 343 ตัว และโคขุนจาก 176 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 211 ตัว ชุมชนมีกำไร 2,858,516 บาท และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 53.18 โซ่การรวบรวมชุมชนรวบรวมโคขุนมีชีวิต 211 ตัว และลูกโคเพศผู้ 171 ตัว มูลค่าธุรกิจ 7,340,884 บาท อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 3.48 และ โซ่การตลาด ชุมชนเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการตลาดปริมาณธุรกิจ 7,911,841 บาท มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 3.39 การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจชุมชนตลอดโซ่อุปทานการผลิตโคเนื้อมูลค่าเศรษฐกิจในพื้น 1,701,234 บาท หรือเพิ่มร้อยละ 24.17 ของมูลค่าเศรษฐกิจเดิม สำหรับการพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมยุวชนเกษตรจำนวน 104 ราย ให้เป็นโซ่ข้อต่อพัฒนาธุรกิจชุมชนเกษตรด้วยการออกแบบกิจกรรมเชิงปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้วยการออกแบบโมเดลธุรกิจ (Business Model Canvas) 3) สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงแปรรูป สร้างแบรนด์ และทำการตลาด พบว่า ธุรกิจชุมชนกาแฟมีเยาวชนบ้านน้ำพัน 10 ราย แปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว 3 ชนิด ทำการตลาดในพื้นที่และตลาดออนไลน์ สร้างปริมาณธุรกิจ 232,928 บาท กำไร 56,135 บาท ผลตอบแทนการลงทุนร้อยละ 24.10 ธุรกิจชุมชนโกโก้มีเยาวชนบ้านน้ำพัน และบ้านปางปุก จำนวน 3 ราย สร้างปริมาณธุรกิจ 61,485 บาท มีกำไร 21,269 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 34.59 ธุรกิจชุมชนโคเนื้อมีเยาวชนบ้านปางช้าง และบ้านศิลาเพชร จำนวน 5 รายทำการตลาดโคมีชีวิตและตลาดออนไลน์สร้างปริมาณธุรกิจ 1,127,156 บาท มีกำไร 349,516 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุนร้อยละ 31.01 โดยเยาวชนมีสมรรถะและทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ 1) เยาวชนร้อยละ 17 มีสมรรถนะด้านดิจิตัล 2) เยาวชนร้อยละ 17 มีสมรรถนะด้านการคิดวิเคราะห์ 3) เยาวชนร้อยละ 30 มีสมรรถนะเชิงสังคม/วัฒนธรรม และ 4) เยาวชนร้อยละ 30 มีสมรรถนะด้านจิตสาธารณะ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาการพัฒนาธุรกิจชุมชนบนพื้นที่สูง ประกอบด้วย 1) ระบบเกษตรพื้นที่สูงควรไปสู่พืชและสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงสร้างความจำเพาะ (niche crop) 2) พืชและสัตว์เศรษฐกิจต้องมีศักยภาพในการจัดการโซ่อุปทานการผลิตด้วยการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเกษตรกร 3) ธุรกิจชุมชนเกษตรบนพื้นที่สูงมีข้อจำกัดของพื้นที่และมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตพื้นที่ราบธุรกิจ ชุมชนควรแข่งขันด้วยคุณภาพมากกว่าปริมาณและสร้างอัตลักษณ์เพื่อสร้างตลาดเฉพาะ 4) ธุรกิจชุมชนเกษตรควรได้รับการสนับสนุนด้านการตลาดต่อเนื่อง และเชื่อมโยงการตลาดอย่างเป็นระบบ ทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก จากการเป็นจังหวัดการค้าชายแดน 5.) แรงงานและทักษะแรงงานของคนรุ่นถัดไป จะทำงานทางการเกษตรไม่เต็มเวลา ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงานจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายพื้นที่ 6) การพัฒนาให้ธุรกิจชุมชนโคเนื้อมีความยั่งยืนควรมีการการสร้างแรงจูงใจ ผ่านโครงการภาครัฐ เช่น โครงการธนาคารโคกระบือ โครงการการเลี้ยงโคเนื้อแปลงใหญ่ เป็นต้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต 7) การใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ควรการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนใช้ประโยชน์และดูแลป่าได้ถูกต้องตามกฎหมาย ควบคู่กับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม