EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>น-การพัฒนาธุรกิจชุมชนโคเนื้อในการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน-นลินี คงสุบรรณ์
น-การพัฒนาธุรกิจชุมชนโคเนื้อในการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน-นลินี คงสุบรรณ์
ผู้วิจัย : ดร.นลินี คงสุบรรณ์   โพสต์ เมื่อ 06 มิถุนายน 2022
จำนวนผู้เข้าชม 311 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 19 ครั้ง

โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาธุรกิจชุมชนโคเนื้อในการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนโคเนื้อ ด้วยการบริหารจัดการโซ่อุปทานการผลิต และ 2) เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาอาชีพ และธุรกิจชุมชนโคเนื้อบนพื้นที่สูง การวิจัยครั้งนี้ได้เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจาก 6 ชุมชน จำนวนเกษตรกร 103 ครัวเรือน จำแนกตามรูปแบบการเลี้ยง 2 รูปแบบ ประกอบด้วย การเลี้ยงโคเนื้อพื้นเมืองในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 จำนวน 93 ราย และการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมเลือดยุโรป ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 3 4 และ 5 จำนวน 10 ราย พื้นที่วิจัยอยู่ในอำเภอแม่จริม สันติสุข และปัว จังหวัดน่าน ผลการศึกษา พบว่า

ธุรกิจชุมชนโคเนื้อมีการบริหารโซ่อุปทาน 3 ห่วงโซ่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโซ่ที่ 1 การผลิต ชุมชนมีขนาดฝูงโค จำนวน 1,200 ตัว เป็นโคแม่พันธุ์ จำนวน 572 แม่ การจัดการองค์ความรู้ด้านการจัดการพันธ์ อาหาร และสุขศาสตร์สัตว์ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจาก 1) จำนวนโคที่เพิ่มขึ้น ลูกโคเพิ่มขึ้นจาก 286 ตัว เป็น 343 ตัว และโคขุน จาก 176 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 211 ตัว 2) มูลค่าอาหารหยาบลดลงจาก 7,213.39 บาท/ตัว เป็น 6,150.89 บาท/ตัว สำหรับโคพื้นเมืองขุน และจาก 1,050.00 บาท/ตัว เป็น 625.00 บาท/ตัว สำหรับลูกโค และ 3) มูลค่าเวชภัณฑ์สัตว์ลดลงจาก 378.21 บาท/ตัว เป็น 340.39 บาท/ตัว สำหรับโคพื้นเมืองขุน และจาก 151.29 บาท/ตัว เป็น 136.16 บาท/ตัว สำหรับลูกโค ชุมชนมีกำไร 1,281,516.30 บาท และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 18.43 โซ่ที่ 2 การรวบรวมชุมชนมีการบริหารจัดการในกิจกรรมการรวบรวมโคขุนมีชีวิต 211 ตัว และลูกโคเพศผู้ 171 ตัว ชุมชนมีกำไร 246,904.33 บาท อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 3.48 และ โซ่ที่ 3 การตลาด ชุมชนมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการตลาด ชุมชนมีกำไร 351,437.66 บาท โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 4.65 การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจชุมชนตลอดโซ่อุปทานการผลิตโคเนื้อพื้นเมืองมูลค่า 1,793,039.15 บาท หรือเพิ่มร้อยละ 25.47 ของฐานมูลค่าเศรษฐกิจเดิม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจชุมชนโคเนื้อพื้นเมือง เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพหลักที่ต้องการกลไกการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต 3 เรื่อง (การจัดการพ่อแม่พันธุ์ การจัดการพืชอาหาร และการจัดการสุขศาสตร์สัตว์) โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนอื่น เพื่อให้การเลี้ยงโคพื้นเมือง สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอ ทดแทนและลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  2. การพัฒนาให้ธุรกิจชุมชนโคเนื้อมีความยั่งยืนต้องการการสร้างแรงจูงใจให้แก่ชุมชน เพื่อลดต้นทุนการผลิตผ่านโครงการภาครัฐ เช่น โครงการธนาคารโคกระบือ โครงการการเลี้ยงโคเนื้อแปลงใหญ่ เป็นต้น
  3. ควรได้รับการผลักดันและเชื่อมโยงการตลาดอย่างเป็นระบบ ทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก จากการเป็นจังหวัดการค้าชายแดน ไปยังประเทศจีนซึ่งมีความต้องการบริโภคเนื้อโคจำนวนมาก
  4. การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อลดความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทำหน้าที่อนุรักษ์และดูแลพื้นที่กับชุมชนให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ชุมชนสามารถทำการผลิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดูแลป่าชุมชนตามเป้าหมายของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
  5. การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารขนาดใหญ่ร่วมกัน และเกิดการใช้ประโยชน์ในโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกิดการบริหารจัดการโซ่อุปทานที่ครบวงจร อันจะทำให้ธุรกิจชุมชนโคเนื้อเกิดความเข้มแข็ง และยั่งยืน
  6. การเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (เช่น การท่องเที่ยว และพาณิชย์จังหวัด เป็นต้น) ให้มีการส่งเสริมองค์ความรู้สู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
  7. แนวทางการพัฒนาธุรกิจชุมชนโคเนื้อนี้ ควรที่จะนาไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดเป็นเครือข่ายและเกิดการขยายผลในจังหวัดน่าน หรือพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน