EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ว-การพัฒนาธุรกิจชุมชนโกโก้ในการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน-วันวสา วิโรจนารมย์
ว-การพัฒนาธุรกิจชุมชนโกโก้ในการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน-วันวสา วิโรจนารมย์
ผู้วิจัย : ดร.วันวสา วิโรจนารมย์   โพสต์ เมื่อ 06 มิถุนายน 2022
จำนวนผู้เข้าชม 240 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 34 ครั้ง

การพัฒนาธุรกิจชุมชนโกโก้ในการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 2 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนโกโก้บนพื้นที่สูง ด้วยการบริหารจัดการโซ่อุปทานการผลิตโกโก้ และ 2) เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาธุรกิจชุมชนโกโก้ ที่เหมาะสมกับมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และกายภาพของชุมชนบนพื้นที่สูง การวิจัยครั้งนี้ได้เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจาก 5 ชุมชน ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองแคว อำเภอท่าวังผา อำเภอภูเพียง และอำเภอนาหมื่น จำนวนเกษตรกร 24 ครัวเรือน ผลการวิจัย พบว่า

ธุรกิจชุมชนโกโก้มีการบริหารโซ่อุปทาน 5 ห่วงโซ่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในโซ่ที่ 1 การผลิตโกโก้ผลสด การจัดการองค์ความรู้ด้านการตัดแต่งกิ่ง และการให้ปุ๋ยบำรุงดินและต้นโกโก้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ชุมชนมีมูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 905,760 บาท/ปี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 9.17 โซ่ที่ 2 การรวบรวมโกโก้ผลสด ในโซ่นี้ทางโครงการฯ ไม่ได้เข้ามาแทรกแซง ผู้รวบรวมได้แก่ สหกรณ์การเกษตร โดยมีมูลค่าการรวบรวมโกโก้ผลสด รวมทั้งสิ้น 1,047,840 บาท/ปี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 8.86 โซ่ที่ 3 การแปรรูปโกโก้ผลสดเป็นเมล็ดโกโก้แห้ง ชุมชนมีการแปรรูปโกโก้ผลสดเป็นเมล็ดโกโก้แห้ง มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 106,560 บาท/ปี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 6.55 โซ่ที่ 4 การแปรรูปเมล็ดโกโก้แห้งเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้ ชุมชนทำการแปรรูปเมล็ดโกโก้แห้งเป็นผลิตภัณฑ์ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ โกโก้นิปส์ และโกโก้แมส มีมูลค่าผลิตภัณฑ์โกโก้ รวมทั้งสิ้น 48,495 บาท/ปี มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 46.98 และโซ่ที่ 5 การตลาด เยาวชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการของชุมชนนาผลิตภัณฑ์โกโก้นิปส์ และโกโก้แมสขนาด มาทำการตลาด มีมูลค่าผลิตภัณฑ์โกโก้ รวมทั้งสิ้น 61,846.14 บาท/ปี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 12.55 การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจชุมชนตลอดโซ่อุปทานการผลิตโกโก้มีมูลค่ารวม 213,044.43 บาท/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.40 ของฐานมูลค่าเศรษฐกิจเดิม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจชุมชนโกโก้ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพหลักที่ต้องการกลไกการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยี 4 ประการ ได้แก่ การจัดการแปลงปลูก การแปรรูปโกโก้ผลสดเป็นเมล็ดโกโก้แห้ง การแปรรูปเมล็ดโกโก้แห้งเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้ และการตลาดผลิตภัณฑ์โกโก้
  2. การพัฒนาให้ธุรกิจชุมชนโกโก้มีความยั่งยืนต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่ชุมชนในการรวมกลุ่มแปรรูปเพื่อลดความเสี่ยงจากการขายผลสด และเพิ่มมูลค่าผลผลิต
  3. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และเงื่อนไขการบริหารจัดการโซ่อุปทานโกโก้ ควรได้รับการผลักดัน และการเชื่อมโยงการตลาดอย่างเป็นระบบ เนื่องจากโกโก้ยังสามารถเป็นตลาดเฉพาะได้ โดยเกษตรกรอาจสามารถขายเป็นเมล็ดแห้งหรือผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้ด้วยเครื่องมือที่ตัวเองมีอยู่