EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>อ-Policy Brief-โรค และสิ่งแวดล้อม: การประเมินปัญหาเร่งด่วนกับปัญหาเรื้อรัง กรณีปัญหาโควิด 19 และหมอกควันในภาคเหนือ-อัญชลี เพิ่มสุวรรณ และคณะ
อ-Policy Brief-โรค และสิ่งแวดล้อม: การประเมินปัญหาเร่งด่วนกับปัญหาเรื้อรัง กรณีปัญหาโควิด 19 และหมอกควันในภาคเหนือ-อัญชลี เพิ่มสุวรรณ และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร.ภญ. อัญชลี เพิ่มสุวรรณ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 06 พฤษภาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 176 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 4 ครั้ง

การศึกษานี้นับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แรกในการประเมินและเปรียบเทียบอัตราลดสําหรับต้นทุนและผลลัพธ์ทางสุขภาพและความแตกต่างของอัตราลดสําหรับผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เร่งด่วน  (โรคโควิด 19) และผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เรื้อรัง (มลพิษทางอากาศ) กลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราลดสําหรับเงินและสุขภาพเท่ากับร้อยละ 6.2 และ 1.3 ตามลําดับ และอัตราลดสําหรับสุขภาพภายใต้สถานการณ์การเจ็บป่วยจากโรคโควิด 19 เท่ากับ ร้อยละ 2.4 สูงกว่าสถานการณ์การเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจที่เป็นผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีเท่ากับร้อยละ 0.7 ในเบื้องต้น ดังนั้น อัตราลดที่ใช้สําหรับเงินสูงกว่าอัตราลดสําหรับสุขภาพและอาจแตกต่างกันตามลักษณะของผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การประเมินต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชน อายุ 25 – 50 ปี ในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด (เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน) จากโรคโควิด 19 คิดเป็น 2,562 ล้านบาทต่อปี ส่วนโรคทางเดินหายใจจากมลพิษทางอากาศมีต้นทุนสูงกว่าเล็กน้อย คือ 2,664 ล้านบาทต่อปี และเมื่อพิจารณาในช่วงระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2563-2582) จะมีต้นทุนด้านสุขภาพจากโรคโควิด 19 อยู่ระหว่าง 40,313 ถึง 44,859 ล้านบาท ส่วนโรคทางเดินหายใจจากมลพิษทางอากาศอยู่ระหว่าง 46,658 ถึง 49,564 ล้านบาท แม้ว่าปัญหาหมอกควันมีต่อเนื่องยาวนานมากว่าสิบปี แต่ประชากรในพื้นที่ยังคงให้ความสําคัญเทียบเท่ากับปัญหาโรค ระบาดที่รุนแรง เช่น โควิด 19 ดังนั้น ภาครัฐยังคงต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขหมอกควันที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์โรคระบาด เพราะการลงทุนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ก่อใหเกิดประโยชน์ในเชิงสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่เป็นมูลค่าหลายล้านบาท

บทความนี้เป็นการสรุปเนื้อหาที่สำคัญของรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “การคิดลดเงินและผลลัพธ์ด้านสุขภาพจากโรคโควิด 19 และมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่” ที่เสนอต่อแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมุ่งเน้นประเด็นเชิงนโยบายและตัดเนื้อหาทางเทคนิคบางส่วนออกเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเนื้อหาของรายงานวิจัยได้ง่ายขึ้น