EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>อ-การส่งเสริมเกษตรกรเก็บซากวัสดุทางการเกษตรผ่านแอปพลิเคชัน รีคัลท์-อุกฤษ อุณหเลขกะ
อ-การส่งเสริมเกษตรกรเก็บซากวัสดุทางการเกษตรผ่านแอปพลิเคชัน รีคัลท์-อุกฤษ อุณหเลขกะ
ผู้วิจัย : คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ   โพสต์ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2022
จำนวนผู้เข้าชม 284 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 23 ครั้ง

โครงการ “การส่งเสริมเกษตรกรเก็บซากวัสดุทางการเกษตรผ่านแอปพลิเคชัน รีคัลท์” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีรีคัลท์ในการขายเศษซากทางการเกษตรทั้งเศษซากอ้อย ข้าวโพด ฟางข้าว และเหง้ามันสําปะหลัง ที่กระจายอยู่ตามไร่ นา สวน ของเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขยายของความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มแรกของโครงการนี้ ได้เริ่มจากเหง้ามันสําปะหลังเป็นลําดับแรก เนื่องจากเป็นเศษซากทางการเกษตรที่เกษตรกรไม่ได้นําไปใช้ประโยชน์ ซึ่งต่างจากเศษซากทางการเกษตรประเภทอื่น ที่เริ่มมีการนําไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น

เพื่อให้โครงการดําเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทางโครงการได้แบ่งการดําเนินงานออกเป็น 2 ส่วน

1) การส่งเสริมเกษตรกร 2,000 ราย ในการใช้แอปพลิเคชัน รีคัลท์ เพื่อขายเศษซากวัสดุทางการเกษตร

2) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการรองรับการขายเศษซากทางการเกษตรของเกษตร

ซึ่งจากการดําเนินงานมีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 2,127 ราย แต่อย่างไรก็ตาม แบ่งเป็นเกษตรกรที่สนใจนําเหง้ามันสําปะหลังมาขาย 918 ราย และเกษตรกรที่ลงทะเบียนเพื่อนํามาขายสําเร็จ 17 ราย เกษตรกรนํามาขาย13 ราย รวมทั้งสิ้น 275 รอบ น้ําหนักรวมอยู่ที่ 579.57 ตัน (ณ วันที่ 8 กันยายน 2564) ซึ่งเป็นยอดเงินที่เกษตรกรได้รับที่ 356,318 บาท ซึ่งผู้วิจัยได้มีข้อสรุป ดังนี้

1. ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันส่งเสริมให้เกษตรกรขายเหง้ามันสําปะหลังมากขึ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และมีสภาพคล่องทางการเงิน ยังสามารถช่วยลดอัตราการลักลอบเผาเหง้ามันสําปะหลังที่ก่อให้เกิดมลพิษ

2. สําหรับเกษตรกรในพื้นที่ไกลจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และเกษตรกรรายย่อย อาจส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ จัดตั้งสหกรณ์ หรือต้องมีลานรับซื้อให้มากขึ้น

3. การใช้เทคโนโลยีในการเก็บเหง้ามันสําปะหลังยังมีค่อนข้างน้อย ภาครัฐควรส่งเสริมนักวิจัยสถาบันการศึกษา หรือภาคเอกชน ในการสร้างเครื่องเก็บเหง้ามันสําปะหลัง เพื่อเป็นการลดระยะเวลาในการเก็บ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของแรงงาน

4. การขยายกิจการโรงไฟฟ้าชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสําปะหลังให้มากขึ้น โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกมันสําปะหลังค่อนข้างมาก