EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>ก-การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย-กุลนรี นุกิจรังสรรค์
ก-การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย-กุลนรี นุกิจรังสรรค์
ผู้วิจัย : ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022
จำนวนผู้เข้าชม 279 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 77 ครั้ง

งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย (A preliminary study on Chinese students in Thailand)” มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจสถานการณ์ของนักศึกษาจีนในไทย ได้แก่ จำนวนนักศึกษาจีนในไทย แรงจูงใจในการมาศึกษาต่อในไทย แรงจูงใจในการอยู่ไทยต่อหลังสำเร็จการศึกษา ความพึงพอใจต่อการเรียนการสอน และ (2) ศึกษาการบริหารจัดการของสถาบันอุดมศึกษาไทยในการรองรับนักศึกษาจีน รวมถึงปัญหาและข้อกังวลต่อการเข้ามาของนักศึกษาจีน งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการทบทวนเอกสาร สนทนากลุ่ม (focus group) และสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาอยู่ในไทยจำนวน 18 ราย นักศึกษาจีนที่จบการศึกษาในไทยแล้วอยู่ไทยต่อจำนวน 7 ราย และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของไทยจำนวน 3 ราย

ผลการศึกษาพบว่าในปี 2020 นักศึกษาจีนที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาในไทยมีจํานวน 14,423 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มาจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน มูลเหตุที่นักศึกษาจีนเลือกศึกษาต่อต่างประเทศมีสองปัจจัยสําคัญ ได้แก่ การขาดโอกาสในการศึกษาในประเทศ และต้องการหลีกหนีสภาพสังคมที่กดดัน ส่วนปัจจัยสําคัญที่ทําให้ตัดสินใจมาศึกษาต่อในไทย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง และมีหลักสูตรหลากหลายสามารถตอบโจทย์นักศึกษาจีนได้ นักศึกษาจีนส่วนใหญ่นิยมศึกษาด้านการจัดการ บริหารธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และภาษาไทย ขณะที่สาขาอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ นิเทศศาสตร์ ศิลปกรรม ดนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ การสําเร็จการศึกษาจากไทยเป็นที่ยอมรับในสังคมจีน แต่อาจจะไม่ได้สร้างความโดดเด่นหรือทําให้ได้เปรียบกว่าผู้อื่นในตลาดแรงงานนัก ยกเว้นในตลาดแรงงานทางตอนใต้ของจีนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยและอาเซียน นักศึกษาจีนจํานวนมากมีความคาดหวังที่จะได้ทํางานในไทยหลังสําเร็จการศึกษา แต่ทว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งรัดให้นักศึกษาจีนไม่สามารถหางานในไทยได้และเดินทางกลับจีนเร็วขึ้น ด้านการบริหารจัดการของสถาบันอุดมศึกษาไทย ผลการศึกษาพบว่าสถาบันการศึกษาจํานวนมากต้องการรับนักศึกษาจีนเนื่องจากเหตุผลด้านรายได้เป็นสําคัญ สถาบันหลายแห่งมีการออกแบบและปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาจีนทั้งด้านภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนและสาขาวิชา อีกทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนเพื่อเอื้อต่อนักศึกษาจีนในการสําเร็จการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาไทยส่วนใหญ่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีนและเอเจนซี่ในการช่วยประชาสัมพันธ์ รับสมัครและจัดหานักศึกษาจีนมาไทย การขยายตัวของนักศึกษาจีนในไทยส่งผลดีต่อสถาบันการศึกษาในเรื่องรายได้และส่งผลดีต่อไทยในเรื่องการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย แต่ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ดังกล่าวก็สร้างความกังวลใจต่อคุณภาพการเรียนการสอนและอิทธิพลจีนที่แฝงเข้ามาผ่านทางการศึกษา

คําสําคัญ นักศึกษาจีน การเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อุดมศึกษา ความสัมพันธ์ไทย-จีน