EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>น-ความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต ความกังวลต่อความตาย และพฤติกรรมของผู้บริโภค: กรณีศึกษาพื้นที่กรุงเทพมหานคร-นพพล วิทย์วรพงศ์
น-ความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต ความกังวลต่อความตาย และพฤติกรรมของผู้บริโภค: กรณีศึกษาพื้นที่กรุงเทพมหานคร-นพพล วิทย์วรพงศ์
ผู้วิจัย : รศ. ดร. นพพล วิทย์วรพงศ์   โพสต์ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022
จำนวนผู้เข้าชม 182 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 39 ครั้ง

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ การทดสอบความเหมาะสมของเครื่องมือในการวัดระดับความกังวลต่อความตาย และการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต ความกังวลต่อความตาย และพฤติกรรมของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร การศึกษานี้เก็บข้อมูลปฐมภูมิจากประชากรในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธี Two-Stage Cluster Random Sampling กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นกลุ่มวัยทํางานอายุระหว่าง 25-59 ปีจํานวน 1,251 คน และกลุ่มสูงวัยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจํานวน 505 คน ในการตอบวัตถุประสงค์ประการแรก การศึกษานี้พิจารณาเครื่องมือทั้งสิ้น 4 ชุด ได้แก่ Templer Death Anxiety Scale (TDAS) ที่ประกอบไปด้วยข้อความ 15 ข้อ สําหรับกลุ่มตัวอย่างวัยทํางานและกลุ่มตัวอย่างวัยสูงอายุ และ Templer Death Anxiety Scale-Extended (TDAS-E) ที่ประกอบไปด้วยข้อความ 51 ข้อ สําหรับกลุ่มตัวอย่างวัยทํางานและกลุ่มตัวอย่างวัยสูงอายุ และประเมินความเหมาะสมและทดสอบคุณสมบัติของเครื่องมือทั้ง 4 ชุดในมิติต่างๆ ผลการศึกษาพบว่าเครื่องมือ TDAS และ TDAS-E มีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นที่ดีในภาพรวม และพบว่าประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความกังวลต่อความตายในระดับปานกลาง ในกรณีที่ใช้ TDAS (คะแนน = 15-75) คะแนน TDAS เฉลี่ยเท่ากับ 42.322 และ 41.839 สําหรับกลุ่มวัยทํางานและกลุ่มสูงวัย ตามลําดับ และในกรณีที่ใช้ TDAS-E (คะแนน = 51-255) คะแนน TDAS-E เฉลี่ยเท่ากับ 127.079 และ 125.749 สําหรับกลุ่มวัยทํางานและกลุ่มสูงวัย ตามลําดับ ในการตอบวัตถุประสงค์ประการที่สอง การศึกษานี้ใช้แบบจําลองสมการถดถอย โดยพิจารณาการออม การลงทุนในสินทรัพย์ และการเตรียมตัวตายในฐานะตัวแปรตามของแบบจําลอง มีการทดสอบปัญหา Endogeneity และพบว่า ไม่มีสมการใดเลยที่ตัวแปรอธิบายที่สําคัญมีปัญหา Endogeneity ในทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการออมและการลงทุนในสินทรัพย์ในระดับที่ไม่สูงนัก และส่วนใหญ่ไม่มีพฤติกรรมและไม่มีความประสงค์ที่จะเตรียมตัวตาย ผลการศึกษาภายใต้แบบจําลองหลักแสดงให้เห็นว่าอายุคาดเฉลี่ย (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ) และความกังวลต่อความตายไม่มีผลต่อพฤติกรรมใดเลยสําหรับทั้งกลุ่มตัวอย่างวัยทํางานและวัยสูงอายุ ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยที่จะมีสุขภาพดีส่งผลเชิงบวกต่อเงินออมและการลงทุนในสินทรัพย์ในกลุ่มตัวอย่างวัยทํางาน และส่งผลเชิงบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์และส่งผลเชิงลบต่อการเตรียมตัวตายในกลุ่มตัวอย่างวัยสูงอายุ นอกจากนี้แบบจําลองหลักยังพบว่าระดับการศึกษามีความสําคัญในเชิงบวกและมีนัยสําคัญต่อการออม การลงทุน และการเตรียมตัวตาย ในกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัย การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ประเมินเครื่องมือ TDAS หรือ TDAS-E พิจารณาความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต และพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต ความกังวลต่อความตาย และพฤติกรรมผู้บริโภคภายใต้แนวคิดของทฤษฎีวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Hypothesis) โดยการศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิตและความกังวลต่อความตายที่มีต่อพฤติกรรมต่างๆ ของผู้เล่นทางเศรษฐกิจ และมีนัยถึงการสนับสนุนการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินช่างเวลาในการมีชีวิตอยู่ของตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อจะได้วางแผนการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี