EN/TH
EN/TH
หนังสือคู่มือ>หนังสือเศรษฐศาสตร์ความสุข-วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และ สาวิณี สุริยันรัตกร
หนังสือเศรษฐศาสตร์ความสุข-วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และ สาวิณี สุริยันรัตกร
ผู้วิจัย : รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และ สาวิณี สุริยันรัตกร   โพสต์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2021
จำนวนผู้เข้าชม 529 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 213 ครั้ง

การประเมินชีวิตความอยู่ดีกินดีของคนไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถามว่า “คนไทยมีความสุขดีหรือไม่กับสภาพเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้น และสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป” ปัจจัยทางด้านรายได้เพียงอย่างเดียว เช่น การมีรายได้สูงขึ้นสามารถทำให้ชีวิตอยู่ดีมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ การประเมินความสุขขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลที่ประเมินด้วยตัวเองว่าจะให้คุณค่าหรือน้ำหนักกับมิติต่างๆ เช่น จะให้น้ำหนักกับมิติทางด้านรายได้ ด้านครอบครัว ด้านสังคม ด้านการทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มากน้อยต่างกันอย่างไร การให้น้ำหนักในมิติด้านต่างๆ ของคนที่ต่างกันอาจจะทำให้รัฐประสบความยุ่งยากในการทำให้คนในประเทศมีความสุขโดยรวมยิ่งขึ้น 

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการวิพากษ์ถึง “สังคมที่มีความสุข” อย่างแพร่หลายในบริบทที่เป็นเป้าหมายประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 อีกทั้งรายงาน “พิมพ์เขียว Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” ได้มีการอ้างถึงประเด็นทางด้านความสุขว่าถือเป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาประเทศ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับมิติของความสุขของคนในประเทศ และบทบาทของภาครัฐในการนำความสุขมาสู่ประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการนำพาประเทศไปสู่สังคมไทย 4.0 ตามเป้าหมายของการพัฒนา

หนังสือเรื่อง เศรษฐศาสตร์ความสุข นี้ได้ปรับปรุงเนื้อหามาจากโครงการนโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0