การศึกษาเป็นรากฐานสําคัญของความเจริญของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตกาล และเป็นกลไกที่ช่วยให้มนุษย์สร้างสมความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ด้านต่างๆ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งในด้านที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ดังนั้น การศึกษาจึงเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องระบบการสร้างองค์ความรู้ใหม่ การถ่ายทอด ความรู้ และการนําสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ ผลกระทบจากการศึกษาและพัฒนาการด้านภูมิปัญญาของมนุษย์ทําให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนไป ในทํานองกลับกัน สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของระบบการศึกษาได้มีส่วนทําให้คนในสังคมมีความคาดหวังจากการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของยุคสมัยด้วย ในเวลาเดียวกัน การจัดการศึกษาเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าที่คิดและเกี่ยวข้องกับคําถามหลายคําถาม เช่น ใครรับผิดชอบให้การศึกษา (บ้าน สํานัก วัด และรัฐ) การศึกษาเพื่อใครและเพื่อจุดประสงค์ใด ระบบการศึกษาเป็นอย่างไร (ในแต่ละช่วงเวลา) เนื้อหาของการศึกษาคืออะไร และ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นอย่างไร
บทความขนาดยาวนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นวิชาการจัดๆ แต่มีจุดมุ่งหมายให้เป็นเครื่องสะท้อนทัศนะของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่มีต่อการศึกษาไทย (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นอาจไม่เห็นด้วย) ประเด็นหลักของผู้เขียนว่า ต้องการเสนอภาพรวมของการศึกษาสยามตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้โดยมีสมมุติฐานว่า การรับรู้ความเป็นมาของการศึกษาในสังคมสยาม ย่อมช่วยให้เข้าใจปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบันได้ดีขึ้น