EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>ร-บทบาทของวัด พระสงฆ์ และศาสนาในการสร้างคนไทย 4.0-ระพีพัฒน ภาสบุตร
ร-บทบาทของวัด พระสงฆ์ และศาสนาในการสร้างคนไทย 4.0-ระพีพัฒน ภาสบุตร
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.ระพีพัฒน ภาสบุตร   โพสต์ เมื่อ 18 มิถุนายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 181 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 5 ครั้ง

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของวัด พระสงฆ์และศาสนาในสังคมไทย เพื่อจัดทำและประมวลข้อมูลทัศนคติของสังคมและความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เกี่ยวกับวัด พระสงฆ์ และศาสนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธาที่จะมีผลต่อการสร้างคนไทย 4.0 และหัวข้อวิจัยสำหรับแผนงานคนไทย 4.0 โดยเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Pantip จำนวน 33,422 รายการ Facebook จำนวน 2,579 รายการ และ Twitter จำนวน 33,135 รายการเพื่อนำมาใช้ในการศึกษา หลังจากตัดข้อมูลซ้ำและข้อมูลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออก (Removing Suspicious Data) เหลือข้อมูลรวมทั้งหมด 2,260 รายการ

ผลการศึกษาพบว่าสังคมไทยมีทัศนคติต่อวัด พระสงฆ์ และศาสนาในเชิงพุทธพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะการให้เช่าบูชาพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล ขณะที่เพียงไม่ถึงหนึ่งในห้าของข้อมูลยังคงศรัทธาในศาสนา ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดพุทธพาณิชย์โดยเกิดจากการขายความเชื่อมากที่สุด ขณะที่ปัจจัยทางสังคมพบว่าเกิดจากการไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากที่สุด ปัจจัยทางการเมืองพบว่าเกิดจากการฟอกเงินมากที่สุด และปัจจัยด้านเทคโนโลยีพบว่าสื่อออนไลน์มีผลกับการเติบโตของพุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธามากที่สุด สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธาที่พบมากที่สุดคือธรรมกายร้อยละ 68.08

อย่างไรก็ตามด้านความคิดเห็นต่อวัด พระสงฆ์ และศาสนาพบว่าผู้ที่มีทัศนคติเชิงบวกมีจำนวน 403 รายการซึ่งมากกว่าผู้ที่มีทัศนคติเชิงลบซึ่งมีจำนวน 221 รายการ โดยทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวข้องกับการทำบุญ การปฏิบัติธรรม และการบวช สะท้อนให้เห็นว่าวัด พระสงฆ์ และศาสนาก็ยังคงเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อปกป้องคุ้มครองมนุษย์ให้ปลอดภัยจากความไม่แน่นอน ความเสี่ยงดังเช่นที่ผ่านมาแต่ไม่ได้มีบทบาทหลักในฐานะศูนย์กลางของชุมชนเฉกเช่นเดิม การปฏิรูปวัด พระสงฆ์ และศาสนาเพื่อให้กลับมาเป็นที่ศรัทธาของผู้คนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 3 ฝ่ายคือ 1) ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) ประชาชน และ 3) พระสงฆ์ โดยการอุปการะวัด พระสงฆ์ และศาสนาตามสมควร ห้ามวัด และพระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยศถาบรรดาศักดิ์มีช่องทางร้องเรียนการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของวัด พระสงฆ์ และศาสนาโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ดูแล ตรวจสอบการจัดทำบัญชีของวัดอย่างจริงจังเป็นระบบ และทำให้วัตถุมงคลมีลักษณะเหมือนกันและไม่มีอำนาจกำหนดราคา