EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>ร-บทบาทของบ้าน ครอบครัว และชุมชนในการสร้างคนไทย 4.0 กรณีศึกษาปัญหาเด็กแว้น-ระพีพัฒน ภาสบุตร
ร-บทบาทของบ้าน ครอบครัว และชุมชนในการสร้างคนไทย 4.0 กรณีศึกษาปัญหาเด็กแว้น-ระพีพัฒน ภาสบุตร
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.ระพีพัฒน ภาสบุตร และ ผศ.นภาพร เตรียมมีฤทธิ์   โพสต์ เมื่อ 18 มิถุนายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 228 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 58 ครั้ง

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของบ้าน ครอบครัวและชุมชนในสังคมไทย กรณีศึกษาปัญหาเด็กแว้น เพื่อจัดทำและประมวลข้อมูลทัศนคติของสังคมและความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เกี่ยวกับบ้าน ครอบครัว และชุมชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กแว้นที่จะมีผลต่อการสร้างคนไทย 4.0 และหัวข้อวิจัยสำหรับแผนงานคนไทย 4.0 โดยเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Pantip จำนวน 5,635 รายการ Facebook จำนวน 235 รายการ และTwitter จำนวน 138 รายการเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาหลังจากตัดข้อมูลซ้ำและข้อมูลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออก (Removing Suspicious Data) เหลือข้อมูลรวมทั้งหมด 345 รายการ

ผลการศึกษาพบว่าเด็กแว้นส่วนใหญ่ทำพฤติกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม ลักษณะทางกายภาพของเด็ก แว้นพบว่าส่วนใหญ่ ถ่อย เถื่อน กร่าง เป็นอันธพาล ฐานะไม่ดี อาศัยอยู่ในสลัม มีปัญหาด้านการเรียน ไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ปัญหาเด็กแว้นส่วนใหญ่เกิดในแถบเมืองมากกว่าชนบท เช่น กรุงเทพมหานครมากที่สุด รองลงมาเป็นชลบุรีปัญหาเด็กแว้นส่วนใหญ่เกิดในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น สงกรานต์ลอยกระทง เด็กแว้นส่วนใหญ่สร้างปัญหาในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ช่วงเวลาค่ำถึงดึก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็ก แว้นส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาเสพติด และทำร้ายร่างกายคนอื่น เมื่อเด็กแว้นอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจะมีพฤติกรรมข้างเคียงในทางไม่ดีโดยทำให้คนอื่นเดือดร้อน บาดเจ็บ หรือได้รับความเสียหายมากกว่าเด็กแว้นรายบุคคล ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเด็กแว้นพบว่าทำให้ตนเองเสียชีวิต สร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น และเกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม ส่วนใหญ่ผู้คนรู้สึกรังเกียจเด็กแว้น เห็นว่าเด็กแว้นเป็นพวกกากเดนขยะสังคม เป็นพวกตลาดล่าง มีเพียงส่วนน้อยที่เห็นว่าเด็กแว้นสามารถกลับใจมาเป็นคนดีของสังคมได้ในด้านข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเด็กแว้นพบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจับกุมเด็กแว้น รองลงมาให้ลงโทษเด็กแว้นถึงตายด้วยวิธีการต่างๆ