การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของบ้าน ครอบครัวและชุมชนในสังคมไทย กรณีศึกษาปัญหาความรุนแรง เพื่อจัดท าและประมวลข้อมูลทัศนคติของสังคมและความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เกี่ยวกับบ้าน ครอบครัว และชุมชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงที่จะมีผลต่อการสร้างคนไทย 4.0 และหัวข้อวิจัยสำหรับแผนงานคนไทย 4.0 โดยเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Pantip จำนวน 90,209 รายการ Facebook จำนวน 11,593 รายการ และTwitter จำนวน 14,868 รายการเพื่อนำมาใช้ในการศึกษา หลังจากตัดข้อมูลซ้ำและข้อมูลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออก (Removing Suspicious Data) เหลือข้อมูลรวมทั้งหมด 6,527 รายการ
ผลการศึกษาพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นประเภทระหว่างบุคคลหรือการทำร้ายบุคคลอื่น (Interpersonal Violence/ Homicide) โดยเกิดจากคนรู้จัก (Acquaintance) คนรอบข้างใกล้ตัว รองลงมาเป็นความรุนแรงในครอบครัว (Family Violence) ลักษณะการกระทำความรุนแรงเป็นทางจิตใจมากที่สุดรองลงมาเป็นความรุนแรงทางร่างกาย และความรุนแรงทางเพศตามลำดับ ปัญหาความรุนแรงเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึงสามเท่า และเกิดกับวัยรุ่นมากที่สุด รองลงมาเป็นเด็ก ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับสถิติความรุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่าการกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นไปโดยตั้งใจโดยพบข้อมูลจำนวน 6,437 รายการ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ความรุนแรงต่อเพศหญิงโดยการทำร้ายร่างกายเป็นแบบต่อเนื่อง และตั้งใจ ความรุนแรงส่วนมากเกิดขึ้นในครอบครัว รองลงมาเป็นสถานศึกษา ส่วนมากความรุนแรงเกิดในช่วงเวลาดึก สาเหตุของความรุนแรงส่วนมากเกิดจากปัญหาครอบครัว รองลงมาเป็นสาเหตุจากความรักบุคคลที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคนรัก รองลงมาเป็นแม่ วิธีการกระทำความรุนแรงส่วนมากเป็นการนินทา ด่าทอ รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย ตามมาด้วยการกดดัน บีบบังคับ ข่มขู่ ส่วนใหญ่ความรุนแรงส่งผลต่อจิตใจ รองลงมาเป็นบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ความรุนแรงที่เกิดจากคนแปลกหน้าเป็นสาเหตุหลักทำให้เสียชีวิต