EN/TH
EN/TH
เอกสารวิจัย>ม-การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรมบนการเรียนรู้ฐานวิจัย-มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ
ม-การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรมบนการเรียนรู้ฐานวิจัย-มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ
ผู้วิจัย : รศ. ดร. มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 29 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 139 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 4 ครั้ง

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการสอนในการปลูกฝังคุณธรรมบนโครงงานฐานวิจัย โดยใช้การแลกเปลี่ยนประสบการณ์สอนในกลุ่มครูจาก 5 โรงเรียน ขั้นตอนในการสร้างรูปแบบของการสอนคุณธรรมสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ประกอบด้วยการเลือกหลักคุณธรรม การกำหนดขั้นตอนการสอน และการทดลองสอนสำหรับครูโครงการนี้ประเมินผลการสอนคุณธรรมด้วยรูปแบบนี้โดยใช้ผลลัพธ์ทางการเรียนรู้(Learning Outcomes) กรอบความคิด (Mindset) และต้นทุนชีวิต (Life Assets) ของนักเรียน

รูปแบบของการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม มี 5 ขั้นตอน คือ (1) การเตรียมความพร้อมผู้เรียน (2) การปลูกฝังคุณธรรม (3) การให้หลักคิดและความรู้(4) การปฏิบัติ และ (5) การถอดบทเรียน ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการสอนตามรูปแบบดังกล่าว สามารถถ่ายทอดวิธีสอนให้ครูจาก 5 โรงเรียนได้ภายในหนึ่งภาคเรียน โดยใช้การแลกเปลี่ยนการสอน ทั้งแบบพบหน้าและแบบออนไลน์

โครงการนี้เพิ่มประสิทธิภาพของการสอนตามรูปแบบนี้ โดยการพัฒนาทักษะในการสอนคุณธรรมการจัดกิจกรรมค่าย และการปรับปรุงห้องเรียน ผลการดำเนินงาน พบว่า (1) ครูส่วนใหญ่มีประสบการณ์สอนคุณธรรมน้อย ยกเว้นครูสาระสังคม (2) การออกแบบแผนการสอน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ครูเข้าใจวิธีการสอนเร็วขึ้น เนื่องจากครูเรียนรู้ผ่านการคิดและปฏิบัติด้วยตนเอง (3) ค่ายจิตอาสา เป็นกิจกรรมที่ช่วยเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดและพฤติกรรม รวมทั้งพัฒนาจิตใจของผู้เรียน และ (4) ห้องเรียนที่เหมาะสม คือห้องเรียนที่มีสื่อการสอนคุณธรรม สามารถเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้สะดวก และเปิดโอกาสให้ครูอื่นเข้ามาสังเกตการสอนได้

ผลจากการใช้รูปแบบของการสอนนี้หนึ่งภาคเรียนของ 5 โรงเรียน พบว่า นักเรียนทั้งหมด 160 คนได้รับปลูกฝังคุณธรรม โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 84.0 ในด้านพฤติกรรมอันพึงประสงค์ 3 ด้าน คือความมีวินัยซื่อสัตย์ และจิตสาธารณะ และมีกรอบความคิดแบบเติบโต (คะแนนเฉลี่ย 41.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 60.0 คะแนน) นอกจากนี้จากข้อมูลต้นทุนชีวิตก่อนและหลังการสอนคุณธรรมตามรูปแบบนี้ พบว่า คะแนนต้นทุนชีวิตของนักเรียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.5 คะแนน จากคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนคุณธรรม 61.3 คะแนน จากตัวชี้วัดพลังรวมทั้ง 5 ด้าน คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน นอกจากนี้ผลของการสอนตามรูปแบบนี้ พบว่านักเรียนสามารถสร้างความรู้จากปัญหาในชุมชนทั้งในด้านอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยผลิตบทความจำนวน 37 บทความ จากโครงงาน 44 เรื่อง (การทำโครงงานประสบความสำเร็จร้อยละ 84.1)