EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>อ- สภาพเศรษฐกิจและภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรบนพื้นที่สูง จังหวัดน่าน-อัครพงศ์ อั้นทอง และนิรันดร์ รักษ์ปาทาน
อ- สภาพเศรษฐกิจและภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรบนพื้นที่สูง จังหวัดน่าน-อัครพงศ์ อั้นทอง และนิรันดร์ รักษ์ปาทาน
ผู้วิจัย : ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง และ นายนิรันดร์ รักษ์ปาทาน   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 130 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 1 ครั้ง

รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจและหนี้สินของครัวเรือนเกษตรในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน โดยใช้ตําบลนาไร่หลวง อําเภอสองแคว และตําบลเมืองจัง อําเภอภูเพียง เป็นตัวแทนครัวเรือนเกษตรในพื้นที่ชนบทและใกล้เมืองตามลําดับ ประเด็นศึกษาครอบคลุมลักษณะและแบบแผนการผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตร ที่มาของรายได้และการใช้จ่ายในรอบปีของครัวเรือนเกษตร และภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตร โดยใช้แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่มีจํานวนแรงงานน้อยและเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย มีที่ดินทํากินประมาณ 3 แปลง รวมกันประมาณ 15-30 ไร่ ปลูกพืช 3-5 ชนิด (ส่วนใหญ่เป็นพืชไร่และไม้ผลเป็นหลัก) เพื่อให้มีรายรับหลายช่วงในรอบปี (ส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากพืชไร่ในช่วงปลายและต้นปีและจากไม้ผลในช่วงกลางปี) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรบางรายมีการปรับตัวโดยการเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรที่ทําให้มีรายรับเกือบตลอดท้ังปีเช่น พืชผัก ยางพารา มะนาว ปศุสัตว์เป็นต้น รวมทั้งการันตีความมั่นคงทางการอาหารด้วยการปลูกข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปีขณะเดียวกันก็มีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตรการมีเงินโอนจากสมาชิกในครัวเรือน เงินโอนจากภาครัฐอย่างไรก็ตามครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอเพียงกับการเพิ่มขึ้นของรายการรายจ่ายที่จําเป็น เช่น ค่าน้ํามันเชื้อเพลิงค่าโทรศัพท์ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรหลาน เป็นต้น จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุของการก่อหนี้นอกจากนี้การผลิตที่พึ่งพาเงินกู้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจนํามาสู่การเป็นหนี้ซ้ําซากของครัวเรือนเกษตร

มูลเหตุสําคัญแห่งหนี้สินของครัวเรือนเกษตร ได้แก่ 1) รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เนื่องจากปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกําลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า “ไม้ผลแก่ ไม่มีแรงงานทําพืชไร่” ทําให้ครัวเรือนเกษตรเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับการมีรายได้ลดลงในอนาคต ขณะที่ยอดการใช้จ่ายในรอบปียังคงอยู่ในระดับเดิม (ประมาณ 100,000-150,000 บาท/ครัวเรือน/ปี) และรายการจําเป็นบางรายการมีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีบุตรหลาน ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานจะเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษาของบุตรหลานและ 2) การผลิตที่พึ่งพาเงินกู้ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีภาระหนี้สินที่กู้มาเพื่อการผลิตทางการเกษตรประมาณ 50,000-100,000 บาท/ครัว เรือน/ปีโดยจัดสรรเพื่อใช้ในการผลิตการทางเกษตรประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือนําไปใช้จ่ายในครัวเรือน ความเสี่ยงจากการขาดทุนและ/มีรายรับไม่เป็นไปตามที่คาดหมายทําให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะไม่สามารถชําระคืนหนี้สินในส่วนนี้ได้และนํามาสู่การพอกพูนสะสมหนี้สินที่เป็นวัฏจักรของการเป็นหนี้ซ้ําซากนอกจากมูลเหตุทั้งสอง การลงทุนในทรัพย์สิน จํานวนแหล่งเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุตรหลาน (ทั้งเพื่อการศึกษาและ/ไม่ใช่) และการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ต่างก็มีส่วนทําให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มขึ้น

การศึกษานี้ได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มาจากมูลเหตุที่สําคัญทั้งสอง บนพื้นฐานของการส่งเสริมอาชีพทางเลือกที่นํามาสู่การมีรายได้ที่เพียงพอต่อรายจ่ายและการชําระหนี้สินที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของครัวเรือนเกษตรโดยเฉพาะในเรื่องของกําลังแรงงานและขนาดพื้นที่ที่ลดลง รวมถึงเงื่อนไขทางการตลาดที่เกี่ยวกับต้นทุนในเรื่องของโลจิสติกส์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป