EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>ว- ทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย-วรลักษณ์ หิมะกลัส
ว- ทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย-วรลักษณ์ หิมะกลัส
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.วรลักษณ์ หิมะกลัส และ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 222 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 32 ครั้ง
“ทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย” เป็นปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็กและเยาวชน เป็นผลจากการได้รับการเสริมสร้างให้เกิดตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทั้งภายในตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน เพื่อน หรือชุมชน โดยจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ 

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทุนชีวิตของสามเณร ที่บวชเรียน ณ โรงเรียน ก. และโรงเรียน ข. จำนวน 622 รูป และเปรียบเทียบทุนชีวิตของสามเณรกับเด็กและเยาวชนไทยกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ข้อมูลทุนชีวิตใช้แบบสำรวจทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย (ฉบับเยาวชน) สำหรับช่วงอายุ 12 – 25 ปี ที่พัฒนาโดย สุริยเดว ทรีปาตี และคณะ ประกอบด้วยข้อคำถามเชิงบวก 48 ข้อ แบ่งเป็นพลัง 5 ด้าน ได้แก่ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2562

ในภาพรวมสามเณรผ่านเกณฑ์ทุนชีวิตโดยมีค่าร้อยละของคะแนนทุนชีวิตในภาพรวมเท่ากับ 63.65 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และผ่านเกณฑ์ในทุกพลัง โดยเรียงล าดับจากมากไปน้อย ได้แก่ พลังสร้างปัญญา (ร้อยละ 64.10) พลังตัวตน (ร้อยละ 63.88) พลังชุมชน (ร้อยละ 63.49) พลังครอบครัว (ร้อยละ 63.45) และพลังเพื่อนและกิจกรรม (ร้อยละ 62.72) โดยสามเณรในโรงเรียน ก. มีทุนชีวิตที่ ต่ำกว่าสามเณรในโรงเรียน ข. และสามเณรจากจังหวัด ก. ไม่ผ่านเกณฑ์ในพลังเพื่อนและกิจกรรม ในขณะที่สามเณรจากจังหวัด ข. ไม่ผ่านเกณฑ์ในพลังครอบครัว

สำหรับทุนชีวิตที่เข้มแข็งที่สุด 5 อันดับแรก พลังสร้างปัญญามีจำนวนข้อมากที่สุด (3 ใน 5 ข้อ) ได้แก่ สามเณร รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในสถาบันการศึกษา (ร้อยละ 67.63) สามเณร อยู่ในสถาบันการศึกษาที่เอาใจใส่ สนับสนุน และช่วยเหลือผู้เรียนได้ดี (ร้อยละ 67.10) และสามเณร อยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีเหตุผล และมีการดูแลให้ปฏิบัติตาม (ร้อยละ 66.93) ส่วนทุนชีวิตที่อ่อนแอที่สุด 5 อันดับแรก พลังตัวตนและพลังสร้างปัญญามีจำนวนข้อเท่าๆ 
กัน คือ สามเณร กล้าปฏิเสธพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น เพศสัมพันธ์ ยาเสพติด ความรุนแรง และสื่อที่ไม่ดี) (ร้อยละ 53.59) สามเณร มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน (ร้อยละ 60.29) สามเณร สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสื่อ เช่น วิทยุ ทีวี สื่อประเภทอื่นๆ กับครูเป็นประจำ (ร้อยละ 58.15) และสามเณร อ่านหนังสือด้วยความเพลิดเพลินเป็นประจำ (ร้อยละ 59.43) ทั้งนี้สามเณรที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทุนชีวิตหรือทุนชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 60 มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสามเณรทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านพลังครอบครัวที่มีสามเณรถึงเกือบครึ่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาความสัมพันธ์กับคุณลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจจะพบว่ายิ่งสามเณรมีอายุ ที่มากขึ้น อยู่ในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น ครอบครัวมีพ่อแม่ที่อยู่พร้อมหน้า รวมถึงตัวสามเณรมี เป้าหมายและทัศนคติที่ดีจะมีแนวโน้มที่ทุนชีวิตจะยิ่งมากขึ้น จะเห็นได้ว่าประเด็นต่างๆ ข้างต้นเป็น ตัวสะท้อนทัศนคติหรือสิ่งที่หล่อหลอมสามเณรก่อนที่จะมาบวชเรียนได้ ซึ่งกลุ่มสามเณรเหล่านี้ที่ผ่าน เกณฑ์มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่ดีก่อนที่มาบวชเรียนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทุนชีวิตของสามเณรยังมีค่าที่ต่ำกว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นๆ และยังมีทุนชีวิต ที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นในเกือบทุกพลัง มีเพียงพลังชุมชนที่พบว่ากลุ่มวัยรุ่นตั้งครรภ์ และกลุ่มเยาวชนที่มี ความสามารถพิเศษมีค่าทุนชีวิตที่ต่ำกว่า ทั้งนี้พลังครอบครัวเป็นพลังที่สามเณรมีทุนชีวิตมากที่สุด คล้ายคลึงกับการศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชนอื่นๆ แต่สามเณรจะมีค่าทุนชีวิตในด้านพลังเพื่อนและ กิจกรรมต่ำที่สุดในขณะที่เด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพลังชุมชนมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็ น่าจะสะท้อนได้ว่าสามเณรกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์น่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนค่อนข้างมากกว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในสังคมเมือง

ทุนชีวิตของสามเณรที่ต่ำกว่า ส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือสามเณรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสามเณรที่ ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนที่มาจากครอบครัวชายขอบและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในกรณี ดังกล่าวเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาทางเลือก ที่มาจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็กซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส เยาวชนกลุ่มนี้จะมีค่าเฉลี่ยคะแนนทุนชีวิตที่ต่ำกว่าสามเณรและเป็นกลุ่มที่มีทุนชีวิตต่ำที่สุด (ร้อยละ 60.75) อีกทั้งยังมีทุนชีวิตในแต่ละพลังที่ต่ำที่สุด ในทุกพลัง แม้เมื่อเทียบกับสามเณรแล้วก็ตาม