EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ภ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยโครงการย่อยที่ 2-1 - การอยู่อาศัยในเมือง-ภัณฑิรา จูละยานนท์
ภ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยโครงการย่อยที่ 2-1 - การอยู่อาศัยในเมือง-ภัณฑิรา จูละยานนท์
ผู้วิจัย : อ.ภัณฑิรา จูละยานนท์   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 551 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 91 ครั้ง

ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นเป็นจํานวนมากในมหานครกรุงเทพ คอนโดมิเนียมที่ถูกสร้างขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเริ่มกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนเมืองทุกระดับรายได้และทุกวัย การอยู่อาศัยแนวตั้ง (vertical living) ที่เกิดขึ้นพร้อมปรากฏการณ์นี้ทําให้การทําความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ในบ้านและนอกบ้านกลายเป็นโจทย์สําคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตในด้านการอยู่อาศัยที่ดีสําหรับคนเมืองอย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของคนเมืองที่ผ่านมายังขาดการมองปรากฏการณ์ใหม่นี้อย่างสอดคล้องกับระบบของเมือง ทําให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวตั้งในอดีตไม่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมืองเท่าที่ควร งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาและมองภาพอนาคตการอยู่อาศัยของคนเมืองในมหานครกรุงเทพผ่านการทําความเข้าใจอนาคตการอยู่อาศัยแนวตั้งในฐานะที่เป็นส่วนสําคัญส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาเมืองและจะเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยหลักของเมืองในอนาคตที่ยังขาดนโยบายที่เหมาะสมมารองรับ โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคําถามที่ว่า 1) สถานการณ์การและปัจจัยที่ส่งผลต่อรูปแบบการอยู่อาศัยแนวตั้งของคนเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต 2) ปัจจัยอื่นที่อาจจะปรากฏในอนาคตมีอะไรบ้างและจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการอยู่อาศัยแนวตั้งในอนาคตอย่างไร และ 3) ภาครัฐควรดําเนินการเพื่อตอบรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างไร การศึกษาเพื่อตอบคําถามเหล่านี้ใช้วิธีการของอนาคตศึกษา (future studies) ตั้งแต่การกวาดสัญญาณของปัจจัยขับเคลื่อนสําคัญ การสร้างพลวัตระบบของการอยู่อาศัยในเมือง การคาดการณ์ภาพอนาคตฐานและอนาคตทางเลือก (baseline and alternative futures) การประเมินภาพอนาคตพึงประสงค์(preferable futures) การวิเคราะห์ความหมายและนัยยะ ไปจนถึงการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายและวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัยของมหานครกรุงเทพในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างอนาคตการอยู่อาศัยของคนเมืองให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษานํามาสู่ข้อค้นพบว่า ภาพอนาคตการอยู่อาศัยที่พึงประสงค์ที่สุดของมหานครกรุงเทพคือ ภาพเมืองที่มีความหนาแน่นกลางเมืองสูง มีสาธารณูปการครบถ้วนและเข้าถึงง่าย และคนเมืองมีทางเลือกในการอยู่อาศัยร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยการวิเคราะห์แนวทางยุทธศาสตร์ทําให้พบว่ายุทธศาสตร์หลักที่ภาครัฐควรเริ่มดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตการอยู่อาศัยของมหานครกรุงเทพ รวมถึงจะช่วยนําพาเมืองไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ดังกล่าวได้คือ “ยุทธศาสตร์ปลูกเมืองให้เป็นบ้าน: เติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์ประกอบเชิงพื้นที่และเชิงสังคมของเมืองให้น่าอยู่ระยะยาว” เพื่อลดความเป็นเมืองชั่วคราวของมหานครกรุงเทพและส่งเสริมความเป็นบ้านที่น่าอยู่ในระยะยาวให้กับเมืองแห่งนี้ด้วยการ 1) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารสู่การเป็นเมืองที่เข้าถึงที่ทํางานและสิ่งอํานวยความสะดวกได้อย่างรวดเร็ว 2) ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศการอยู่อาศัยแบบรวมหมู่ (collective living) 3) พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อการอยู่อาศัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และ 4) ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกระดับสําหรับคนทุกกลุ่ม