EN/TH
EN/TH
วิดีโอ>ป- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 4 - การเดินทางในเมือง-เปี่ยมสุข สนิท
ป- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 4 - การเดินทางในเมือง-เปี่ยมสุข สนิท
ผู้วิจัย : ดร.เปี่ยมสุข สนิท   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 377 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 87 ครั้ง

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการขนส่งมีผลต่อการเดินทางในเมือง ในปัจจุบันนวัตกรรมด้านการขนส่งที่สําคัญคือ ระบบบริการร่วม (sharing) ธุรกิจบริการรถส่วนบุคคลร่วมโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน (ride-hailing service) เป็นนวัตกรรมด้านการขนส่งที่กําลังได้รับความนิยมและกลายเป็นวิถีในชีวิตประจําวันของคนเมืองทั่วโลก นําไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งตามแนวคิดการขนส่งฐานบริการ หรือ Mobility as a Service (MaaS) ร่วมกับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ (autonomous driving) และเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้า (electrification) เทคโนโลยีเหล่านี้จําเป็นต้องมีการรองรับด้านกฎหมายและระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ที่ภาครัฐต้องดําเนินการพัฒนา การศึกษาอนาคตการเดินทางของคนเมืองจึงสําคัญอย่างยิ่ง งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อนําเสนอสถานการณ์ในภาพรวมการเดินทางของคนเมือง คําถามวิจัย คือ สถานการณ์การเดินทางในปัจจุบันเป็นอย่างไร การเดินทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร และภาครัฐควรดําเนินการอย่างไร โดยใช้กระบวนการและวิธีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์(strategic foresight) ในการอธิบายภาพรวมอนาคตการเดินทางของคนเมืองในมหานครกรุงเทพ มุ่งเน้นศึกษาเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เป็นขอบเขตการวิจัย (scoping)

จากการกวาดสัญญาณด้วยกรอบแนวคิด STEEPV เมื่อนําปัจจัยขับเคลื่อนที่มีผลกระทบสูงและความไม่แน่นอนต่ํามาประมวล สามารถวิเคราะห์เป็นภาพอนาคตฐาน (baseline future) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการคาดการณ์อนาคตของการเดินทางในมหานครกรุงเทพ ฉายภาพอนาคตฐานได้ว่า ธุรกิจขนส่งฐานบริการของเอกชน (private MaaS) จะเป็นแพลตฟอร์มให้บริการขนส่งแบบบูรณาการ เน้นบริการรถจักรยานยนต์เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน โดยมีการผลักดันให้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงผลักดันให้ยานยนต์ไร้คนขับเป็นส่วนสําคัญในการยกระดับการให้บริการขนส่งบนแพลตฟอร์ม และเมื่อนําปัจจัยการขับเคลื่อนสําคัญที่มีผลกระทบสูงและความไม่แน่นอนสูงมาวิเคราะห์เป็นภาพอนาคตทางเลือก (alternative futures) เพื่อคัดเลือกภาพอนาคตที่พึงประสงค์(preferable future) ของการเดินทางในเมือง ฉายภาพอนาคตที่พึงประสงค์ได้ว่า จะมีกิจการขนส่งฐานบริการของรัฐ (Government MaaS) ภายใต้แนวคิด Mobility as a welfare service ที่ทําให้คนเมืองเดินทางได้อย่างสะดวก มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายเนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะมีราคาถูก เน้นการเดินเท้าจักรยานและ micro mobility จึงเป็นอนาคตการเดินทางที่เหมาะสมสําหรับคนในมหานครกรุงเทพ

ผลการศึกษานําไปสู่การจัดทําข้อเสนอแนะนโยบายสาธารณะที่สําคัญในการสนับสนุนการเดินทางของคนเมืองให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม รวมถึงนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางในอนาคตที่เหมาะสม จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรับมืออนาคตฐาน ได้แก่ ยุทธศาสตร์รับมือนวัตกรรมขนส่ง ยุทธศาสตร์คุณภาพชีวิตแรงงานภาคบริการขนส่งบนแพลตฟอร์ม และยุทธศาสตร์ความเป็นธรรมบนแพลตฟอร์ม และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างอนาคตพึงประสงค์ได้แก่ยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการขนส่งฐานบริการของรัฐ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไร้รอยต่อ (seamless connectivity) ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่สังคมที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง