EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ป- การจัดการการเงินของครัวเรือนเกษตรกรในภาคเหนือตอนบนของไทย-ประทานทิพย์ กระมล และคณะ
ป- การจัดการการเงินของครัวเรือนเกษตรกรในภาคเหนือตอนบนของไทย-ประทานทิพย์ กระมล และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.ประทานทิพย์ กระมล และคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 167 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 1 ครั้ง

โครงการวิจัย การจัดการการเงินของครัวเรือนเกษตรกรในภาคเหนือตอนบนของไทยนี้ มุ่งศึกษาเจาะลึกถึงลักษณะการจัดการการเงิน ในด้านรายรับ การใช้จ่ายในด้านเกษตร การใช้จ่ายในครัวเรือน และการศึกษาของบุตรหลาน และการจัดการหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร ในระบบพืชหลัก 6 ชนิด โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. เพื่อระบุและเข้าใจถึงแหล่งที่มาของรายรับของครัวเรือนเกษตร ซึ่งประกอบด้วย รายได้เกษตร รายได้นอกเกษตร เงินโอน และเงินกู้ รวมถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนและรายจ่ายของเกษตรกร
  2. เพื่อระบุและเข้าใจถึงแหล่งที่มาของหนี้สินและประเภทเงินกู้ของครัวเรือนเกษตร วัตถุประสงค์การกู้ยืม เงื่อนไขการกู้ของเกษตรกร และความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ของครัวเรือนเกษตรกร  
  3. เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลจากการใช้เงินกู้ และความสามารถในการสร้างรายได้เพื่อลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร และ
  4. เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการลดภาวะหนี้สินของเกษตรกร งานวิจัยนี้คัดเลือกตัวอย่างครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 15 - 16 ครัวเรือนต่อชนิดพืช รวม 93 ครัวเรือน พืชหลัก 6 ชนิด ได้แก่ กาแฟ มะม่วง ฟักทอง เกษตรผสมผสาน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การศึกษานี้เก็บข้อมูลโดยใช้หลายวิธีการ ได้แก่ การประชุมกลุ่มย่อย สัมภาษณ์ สังเกต บันทึก ติดตาม พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเกษตรกร รวมถึง การสัมภาษณ์หน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนหมู่บ้าน และ ธ.ก.ส.

ผลการศึกษา พบว่า รายได้จากการเกษตรของครัวเรือนแตกต่างกันไปตามประเภทของการผลิต นอกเหนือจากรายได้จากการเกษตรแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้จากงานรับจ้างนอกเกษตรด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายได้เกษตรจากพื้นที่ทำกินพบว่า เกษตรผสมผสานมีรายได้สูงกว่ากลุ่มครัวเรือนอื่น ๆ ส่วนด้านรายจ่ายที่สำคัญเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะค่าอาหาร เมื่อพิจารณาการลงทุนทางการเกษตรในรอบปี พบว่ามีสัดส่วนที่ต่ำในทุกกลุ่มครัวเรือน ยกเว้นครัวเรือนที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนรายจ่ายด้านค่าการศึกษาบุตรหลานนั้น พบว่าบางครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูง ถึง 1 ใน 2 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน

เมื่อพิจารณาแหล่งเงินกู้ พบว่ากองทุนหมู่บ้าน เป็นแหล่งเงินกู้ที่มีจำนวนสัญญาสูงสุด แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงิน ธ.ก.ส. เป็นแหล่งเงินกู้ที่มีจำนวนเงินกู้สูงที่สุด เนื่องจากมีการกู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การกู้จากกองทุนในชุมชนนั้นเป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่กู้ไปเพื่อใช้จ่ายทั้งในครัวเรือน ลงทุนเกษตร และการศึกษาบุตรหลาน แหล่งสินเชื่อส่วนใหญ่เข้มงวดในการส่งคืนเงินกู้ยืมตามกำหนดเวลาและจำนวนเงิน โดยไม่เข้มงวดเรื่องการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถคืนเงินกู้ตามกำหนด โดยเงินคืนเงินกู้ได้มาจากทั้งอาชีพเกษตร รายได้จากแหล่งอื่น และเงินกู้ยืมจากแหล่งอื่น

ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้แตกต่างไปตามพืชที่ปลูก และปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่จะนำมาซึ่งรายได้ เช่น ความพอเพียงของน้ำ ผลกระทบจากการระบาดของโรคและแมลง และสถานการณ์ราคาผลผลิต ครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟักทอง เกษตรผสมผสาน และกาแฟ มีโอกาสในการสร้างรายได้ได้ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายได้ต่อเงินกู้ยืม พบว่าครัวเรือนที่ปลูก ฟักทอง กาแฟ เกษตรผสมผสาน และมันสำปะหลัง มีสัดส่วนรายได้ต่อเงินกู้ยืมที่สูง

การแก้ปัญหาด้านการจัดการการเงินที่สำคัญเพื่อลดภาระการกู้ยืมของเกษตรกร ควรมีการปฏิบัติ/ดำเนินมาตรการ ทั้งในระดับครัวเรือน กลุ่ม พื้นที่/ชุมชน และระดับนโยบาย อย่างจริงจังและประสานสอดรับกัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย การลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน (โดยเฉพาะด้านอาหาร) และการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร โดยการปรับเปลี่ยนระบบพืช และการปรับเปลี่ยนนโยบายของแหล่งสินเชื่อในด้านอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการออมโดยตรงจากการปลูกไม้ยืนต้นในระบบพืช และการออมแบบแอบแฝงจากรายได้เกษตรและดอกเบี้ยกู้ยืมของครัวเรือน